ภูมิแพ้ ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน

"ภูมิแพ้" ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน


ปัจจุบันพ่อแม่จำนวนมากต้องทุกข์ใจจากการมีลูกป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ มีสถิติที่น่าตกใจ เปิดเผยว่า 25% ของประชากรเด็กทั่วโลกป่วยเป็นภูมิแพ้ และมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เมืองไทยในช่วงปี 2553 ข้อมูลจำนวนเด็กอายุ 0-5 ปี พบว่ามีประมาณ 1.8 ล้านคนกำลังป่วยด้วยโรคนี้ แต่ตัวเลขอีกฝั่งที่สูงจนต้องปาดเหงื่อคือ ต้นทุนการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากโรคภูมิแพ้พุ่งสูงถึง 27,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของรายจ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการสำหรับสื่อมวลชนเรื่อง "กันไว้ดีกว่าแก้ ภาระโรคภูมิแพ้ขจัดได้" เปิดเผยผลวิจัยภาระค่าใช้จ่ายเป็นครั้งแรกของไทย พร้อมเสนอแนวทางการป้องกันโรคภูมิแพ้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้

รศ.พ.ญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยเรื่อง "ต้นทุนการรักษาโดยตรงของโรคภูมิแพ้ในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี" ระบุว่า โรคภูมิแพ้ถือว่าเป็นโรคฮิตมากที่สุดในเด็ก และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมากต่อปี

ภูมิแพ้ ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน

"ยารักษาภาวะโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่มี

เป้าหมายเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการเป็นซ้ำ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ถ้ายังไม่สามารถจัดการกับต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ จากการศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า ผลลัพธ์จากการใช้ยาเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของต้นทุนการรักษาโดยตรงคิดเป็นราว 46% ส่งผลให้ต้นทุนค่ารักษาสูงขึ้น"

โรคภูมิแพ้ที่ศึกษาประกอบไปด้วย การแพ้นมวัว หวัดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง ขณะที่เด็กแพ้นมวัวมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดอยู่ที่ 64,838 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 24% ของรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน

ส่วนโรคหวัดเรื้อรังมีค่าใช้จ่าย 12,669 บาท โรคหอบหืด 9,633 บาท และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง 5,432 บาท

ผลการศึกษาในต่างประเทศส่วนใหญ่ พบว่าโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นเป็นกระบวนการ เริ่มต้นด้วยอาการแพ้อาหาร มักจะแสดงออกทางผิวหนังเป็นหลัก มีผดผื่นตามผิวหนัง แม้โตขึ้นอาจหายได้ แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีโอกาสเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคภูมิแพ้อากาศหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหอบหืดได้ นี่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยโดยเฉพาะถ้าไม่รีบรักษาตั้งแต่เล็ก

ความหวังดีที่ทำร้ายลูกน้อยเกิดจากช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์คิดว่าการโหมบำรุงด้วยนมวัวแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพลูกรักในครรภ์ แต่แม่ที่ตั้งใจดื่มนมวัวมากเกินไปกลับทำให้ลูกเสี่ยงเป็น "โรคแพ้นมวัว" หลังคลอด

อาจารย์หมอจรุงจิตร์ให้เหตุผลว่า "วัฒนธรรมคนไทยไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ดื่มนมแทนน้ำเหมือนกับฝรั่งที่ดื่มนมมากเป็นปกติ แต่เมื่อคุณแม่ไทยตั้งครรภ์ก็จะหันมาหักโหมดื่มนมวัวบำรุงสุขภาพเป็นปริมาณมากเกินปกติวิสัย ย่อมส่งผลกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ในเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องได้อย่างไม่ตั้งใจ"

แนวทางการป้องกันโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์คือ คุณแม่ไม่ควรตั้งใจดื่มนมวัวมากเกินไป หากแม่ต้องการเสริมแคลเซียม คุณหมอแนะนำให้รับประทานแคลเซียมเม็ดแทน พร้อมกับรับประทานนมไปตามปกติ

ส่วนช่วงหลังคลอดสิ่งที่ดีที่สุดคือ การให้นมแม่ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือนแรกของชีวิต เนื่องจากนมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทั้งยังประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และยังช่วยลดการสัมผัสกับโปรตีนแปลกปลอมจากนมวัว เรียกได้ว่านมแม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตของเด็กในระยะยาวชนิดนมวัวเทียบไม่ติด

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ควรเลือกกินอาหารให้หลากหลายแบบทางสายกลาง อย่าจำเพาะเจาะจงกินอย่างใดอย่างหนึ่งต่อเนื่อง ส่วนคุณแม่ที่ไม่สามารถให้ลูกดื่มนมแม่ได้ และในกรณีเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้สูง (มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้) คุณหมอแนะให้ในช่วง 4 เดือนแรกควรเลือกให้นมสูตรพิเศษแบบสูตรไฮโปอัลเลอร์เจนิก (H.A.) ที่มี

โปรตีนเวย์ 100% ผ่านการย่อยโดยโปรตีนบางส่วนให้โมเลกุลเล็กลง โดยผลการวิจัยของ GINI จากประเทศเยอรมนียืนยันว่า นมสูตรนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้แก่ทารกที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ในระยะยาว

แน่นอนว่าหัวอกของพ่อแม่ทุกคนไม่อยากเห็นลูกรักต้องมาเจ็บป่วย เพราะไม่เพียงดึงเงินออกจากกระเป๋าสตางค์แบบเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังสร้างความทุกข์ใจทุกครั้งยามเห็นลูกต้องทรมาน

ภูมิแพ้ ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์