อาณาจักรโบราณในภาคต่างๆในดินแดนประเทศไทย

อาณาจักรโบราณในภาคต่างๆในดินแดนประเทศไทย


อาณาจักรโบราณในภาคต่างๆในดินแดนประเทศไทย

อาณาจักรโบราณในภาคกลาง

1) อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นอาณาจักรสมัยประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานแน่นนอนแห่งแรกบนผืนแผ่นดินไทย เรื่องราวของทวารวดีปรากฏอยู่ในบันทึกการเดินทางของหลวงจีนอี้จิง ที่เรียกชื่อในบันทึกว่า “โถ-โล-โป-ตี้” ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอาจมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะพบเหรียญที่นครปฐมมีจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณย” แปลว่า “การบุญของผู้ใหญ่ศรีทวารวดี” ในการขุดค้นทางโบราญคดีที่เมืองนครชัยศรี (นครปฐม) ได้พบหลักฐานสมัยทวารวดีจำนวนมาก เช่น ธรรมจักรศิลา พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาทปางแสดงธรรมรวมถึงโบราญสถานขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบจารึกโบราณที่เขียนด้วยภาษามอญได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ศิลปวัฒนธรรมตลอดจนแบบแผนในการปกครองจากอินเดีย เกิดการผสมผสานจนเป็นอารยธรรมทวารวดีที่แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่างๆของไทย ทางด้านศาสนาได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายเถรวาทจนทำให้ทวารวดีกลายเป็นอาณาจักรของชาวพุทธให้ความสำคัญต่อการทำบุญ ทั้งสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในสมัยทวารวดีและยังปรากฏให้เห็นจนปัจจุบัน คือ พระปฐมเจดีย์(องค์เก่า) ที่จังหวัดนครปฐม
2) อาณาจักรละโว้(พุทธศตวรรษที่12-18) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรีในปัจจุบัน ละโว้เป็นเมืองสำคัญหนึ่งในสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำสำคัญ 3 สายไหลผ่านคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรีทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีเส้นทางติดต่อกับเมืองในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่ราบสูงโคราช และเขตติดต่อกับทะเลสาบเขมร เป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างชุมชนโดยรอบ ส่งผลให้ละโว้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีเศรษฐกิจดี เมื่อพวกขอมหรือเขมรขยายอิทธิพลเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ละโว้ได้กลายเป็นเมืองประเทศราชของขอมและได้รับอารยธรรมของขอมด้วย
ด้านเศรษฐกิจ อาชีพสำคัญของชาวละโว้คือการเกษตร เพรามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีการติดต่อค้าขายกับชุมชนต่างถิ่น เช่น จีน อินเดีย หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อค้าขาย เช่น เครื่องถ้วยจีน และละโว้ยังได้ส่งทูตไปยังเมืองจีน โดยจดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่17-19 เรียกละโว้ว่า “เมืองหลอหู”
ละว้าภายใต้อิทธิพลขอม พระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้เข้ามามีบทบาทในละโว้แทนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1861) มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมตามความเชื่อในศาสนาเหล่านี้ เช่น พระปรางค์สามยอด ปรางค์แขก เทวรูปพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร
------------------------------


อาณาจักรโบราณในภาคเหนือ

1) อาณาจักรโยนกเชียงแสน(พุทธศตวรรษที่ 12-19) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) เรื่องราวของอาณาจักรโยนกเชียงแสน ปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติกุมารและตำนานลวจังกราช กล่าวถึงเจ้าชายสิงหนวัติกุมาร ผู้สืบเชื้อสายเจ้านายไท จากมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ได้อพยพผู้คนลงมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 มาก่อตั้งเมืองที่เชียงแสน ชื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสน ต่อมาพวกขอมเข้ายึดครองอาณาจักรโยนกเชียงแสน และขับไล่ผู้ปกครองเดิมออกไป พระเจ้าพรหมกุมารเชื้อสายของกษัตริย์โยนกเชียงแสนสามารถกอบกู้เอกราช และสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เวียงชัยปราการ แต่หลังพระเจ้าพรหม พวกขอมที่เมืองสะเทินในพม่ายกทัพมารุกราน พระเจ้าไชยสิริโอรสของพระเจ้าพรหมจึงพาผู้คนอพยพหนีมาสร้างเมืองใหม่ที่กำแพงเพชร จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรโยนกเชียงแสนจึงถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
2) อาณาจักรหริกุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-19) ตั้งอยู่ที่เมืองหริกุญชัยหรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ตำนานจามเทวีวงค์หรือตำนานเมืองหริกุญชัยกล่าวว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริกุญชัย และขอให้กษัตริย์ละโว้ส่งเชื้อสายพระวงศ์มาปกครอง ละโว้จึงส่งพระนางจามเทวีผู้เป็นพระราชธิดามาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งหริกุญชัย จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 พระอาทิตยราชได้ปกครองหริกุญชัย และได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงสร้างพระธาตุหริกุญชัย สร้างวัดทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข
3) อาณาจักรล้านนา(พุทธศตวรรษที่ 19-25) มีศูนย์อยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่(จังหวัดชียงใหม่) ผู้ก่อตังอาณาจักรล้านนา คือ พระยามังรายมหาราช(พ.ศ. 1804-1854) ซึ่งเดิมปกครองเมืองเชียงแสน ขณะนั้นในภาคเหนือมีอาณาจักรน้อยใหญ่หลายแห่ง เช่น หริกุญชัย เขลางค์ (ลำปาง) โยนกเชียงแสน พระยามังรายมหาราชสามารถปราบปรามและรวบรวมแว่นแค้วนต่างๆ ในภาคเหนือเข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรล้านนาและตั้งราชธานีแห่งใหม่ขึ้นที่เวียงกุมกาม แต่ประทับอยู่ไม่นานก็ย้ายเมืองอยู่ที่เชียงใหม่ใน พ.ศ.1839 อาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน ที่สำคัญดังนี้
3.1) ด้านภาษา ล้านนามีตัวอักษรใช้สามแบบ คือ อักษรธรรมล้านนาหรืออักษรตัวเมือง อักษรฝักขามที่ดัดแปลงมาจากตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และอักษรขอมเมืองหรืออักษรไทยนิเทศ
3.2) ด้านการปกครอง สามารถขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางโดยรวบรวมหัวเมืองต่างๆเข้าเป็นส่วน หนึ่งของอาณาจักรล้านนาซึ่งปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกฎหมายที่ใช้ปกครองเรียกว่า “มังรายศาสตร์”
3.3) ด้านศาสนา พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยและพม่ามีการสังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2020 เป็นครั้งที่ 8 มีการสร้างวัดหลายแห่ง เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดโพธารามมหาวิหาร(วัดเจดีย์เจ็ดยอด) เป็นต้น
----------------------

อาณาจักรโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1) อาณาจักรโคตรบูรณ์(พุทธศตวรรษที่ 12-16) มีศูนย์กลางอยู่ที่นครพนมมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวะนออกเฉียงเหนือ ตลอดจนดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
เรื่องราวของอาณาจักรโคตรบูรณ์ปรากฏอยู่ใน “ตำนานอุรังคธาตุ”ที่กล่าวถึงความเป็นมาของชุมชนในอาณาจักร และประวัติการสร้างพระธาตุพนม อาณาจักรโคตลบูรณ์ได้รับอิทธิพลจากอินเดียมีการปกครองโดยกษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทตามแบบทวารวดีและมีความเชื่อพื้นเมืองเรื่องการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการบูชาพญานาคศาสนสถานที่สำคัญของอาณาจักร คือ พระธาตุพนม
2) อาณาจักรอิศานปุระ(พุทธศตวรรษที่ 12-18) หรืออาณาจักรขอมรุ่งเรืองขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมัน เรื่องราวของอาณาจักรอิศานปุระหรือเจนละ ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์ต่างๆและในยันทึกของราชทูตจีน ชื่อ โจว ต้ากวน เขียนบันทึกเรื่องราวของอาณาจักรเจนละไว้ในชื่อ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละ” สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นยุคที่อาณาจักรขอมเป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะวิทยาการสูงสุด มีการสร้าง ศาสนสถานเป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่ง เช่น ปราสาทนครธม ปราสาทตาพรหม ปราสาทหินพิมายจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น อาณาขอมได้เผยแพร่อารยธรรมไปยังรัฐที่อยู่ใกล้เคียงหลายด้าน ทั้งด้านการปกครอง ได้แก่ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเป็นสมมติเทพของกษัตริย์ ระบบขุนนางการปกครองแบบจตุสดมภ์ และกฎหมายพระธรรมศาสตร์
ด้านศาสนาและความเชื่อได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนานิกายอาจริยวาทหรือมหายาน ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น ปราสาทหิน เทวรูปพระโพธิ์สัตว์ ศิวลึงค์ พระพุทธรูปปางนาคปรก ความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นต้น
-------------------


อาณาจักรโบราณในภาคใต้


1) อาณาจักรลังกาสุกะ (พุทธศตวรรษที่ 7-14) มีอาณาเขตควบคลุมพื้นที่ในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พัฒนาขึ้นมาจากการเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีการติดต่อกับต่างชาติโดยเฉพีจนและ อินเดียแต่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากกว่าโดยส่งทูตไปเมืองจีนถึง 6 ครั้ง เป็นศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่อำเภอยะรังจังหวัดปัตตานี พบประติมากรรมสำริดพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร และสถูปจำลองรูปทรงต่างๆจำนวนมาก
2) อาณาจักรตามพรลิงค์ (พุทธศตวรรษที่ 13-18) มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช มีหลักฐานที่กล่าวถึงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 โดยเอกสารอินเดียโบราณกล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ในชื่อ “ตมลิง” “ตัมพลิงค์” เอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง เรียกว่า “ถ่ามเหร่ง”สมัยราชวงศ์ซ่งเรียกว่า “ต่านหม่าลิ่ง” ต่อมาเรียกว่า “อาณาจักรนครศรีธรรมราช”
ด้านศาสนา พุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าจันทรภานุศรีธรรมาโศกราชทรงยกทัพไปโจมตีลังกา 2 ครั้ง เพื่อแย่งชิงพระทันตธาตุจากลังกา ทำให้อิทธิพลของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังวงศ์และศิลปะแบบลังกาเข้ามาเผยแผ่และฝังรากลึกอยู่ในอาณาจักรนครศรีธรรมราช ศาสนวัตถุที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชพระพุทธรูปประทับยืนสำริดปางประธานธรรม ทำให้นครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนไทย ซึ่งพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชได้นำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ไปเผยแผ่ยังกรุงสุโขทัยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
3) อาณาจักรศรีวิชัย(พุทธศตวรรษที่ 13-19) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีอิทธิพลครอบคลุมตั้งแต่เกาะชวาในอินโดนีเซีย ขึ้นมาถึงอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อนึ่ง มีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่อำเภอไชยา
ด้านศาสนา ในระยะแรกอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยานับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนานิการมหายาน ต่อมานับถือพระพุทธศาสนานิการเถรวาทจากทวารวดี และพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชดังปรากฏศาสนสถานและศาสนาวัตถุในศาสนาต่างๆ เช่น พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา พระพุทธรูปปางนาคปรกสำริด ที่วัดหัวเวียงอำเภอไชยา เทวรูปพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร วัดศาลาทึง อำเภอไชยา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: พัฒนาการของอาณาจักรโบราณในภาคต่างๆ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์