จะรู้ได้อย่างไรว่ายาตีกัน และทำอย่างไรไม่ให้ยาตีกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่ายาตีกัน และทำอย่างไรไม่ให้ยาตีกัน


ในการรับประทานยารักษาโรค บางท่านอาจต้องการเห็นผลในการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงไปหายาอื่นๆ มารับประทานร่วมกับยาที่แพทย์สั่งหรือเภสัชกรจ่ายให้ ซึ่งไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาแผนปัจจุบันกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพร ก็อาจจะไปมีผลเสริมฤทธิ์กัน ทำให้ฤทธิ์ของยามากเกินความต้องการของร่างกายในการรักษาโรค หรืออาจจะทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง และไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ

ยาตีกันคืออะไร "ยาตีกัน" หมายถึงการที่ฤทธิ์ของยาตัวเดิมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งเพิ่มขึ้น หรือได้รับยามากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งอาจมีผลทำให้ยาตัวเดิมนั้นมีฤทธิ์มากขึ้น จนเกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ หรืออาจจะไปมีผลทำให้ฤทธิ์ของยาตัวเดิมลดลง ทำให้ได้ผลการรักษาน้อยลงก็ได้ ซึ่งบางครั้งผลของ "ยาตีกัน" ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ตัวอย่างกรณีของยาตีกัน

ยาแผนปัจจุบันกับยาแผนปัจจุบัน เช่น การรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาระบาย Bisacodyl ก็จะทำให้ยาระบายตัวนี้ออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหารแทนที่จะไปออกฤทธิ์ที่ลำไส้ จึงทำให้เกิดอาการปวดท้อง การรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น Tetracyclin ก็จะทำให้ยา Tetracyclin ไม่ออกฤทธิ์ และไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ 

การรับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม sulfa  penicillin เช่น amoxicillin และ erythromycin ติดต่อกันนานๆ ก็อาจจะทำให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดน้อยลง และอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้ ในทางกลับกันยาเม็ดคุมกำเนิดก็จะไปลดประสิทธิภาพของยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มเบาหวาน หรือยาลดความดันโลหิต  และในการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก หากรับประทานร่วมกันหลายชนิดฤทธิ์ในการรักษาก็อาจจะเท่าเดิม แต่จะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารมากขึ้น

ยาแผนปัจจุบันกับสมุนไพร เช่น การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของหลอดเลือดbaby aspirin ร่วมกับ ขมิ้นชัน กระเทียม สารสกัดจากใบแปะก๊วย ก็จะไปเสริมฤทธิ์กัน ทำให้เลือดไม่แข็งตัว ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ ก็จะทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรือในกรณีที่ไปถอนฟันหรือผ่าตัด โอกาสที่เลือดจะแข็งตัวก็ยากขึ้น

ยาแผนปัจจุบันกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับน้ำมันปลา ก็อาจจะทำให้เลือดแข็งตัวได้น้อยลง

ยาแผนปัจจุบันกับเครื่องดื่ม เช่น การรับประทานยาแก้แพ้หรือยากล่อมประสาทที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ร่วมกับการรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเหล่านี้จะไปเสริมฤทธิ์ในการกดสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้

จะรู้ได้อย่างไรว่ายาตีกัน และทำอย่างไรไม่ให้ยาตีกัน 

สำหรับอาการที่เกิดจากยาตีกัน สามารถสังเกตได้จากผลการรักษาโรคที่ผิดไปจากเดิม เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ Chlorpheniramine ซึ่งปรกติจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนอยู่แล้ว แต่หากไปรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง ก็จะทำให้เสริมฤทธิ์กันจนทำให้ผู้รับประทานหลับไปเลยได้ หรือในกรณีของยาระบาย Bisacodyl ปรกติจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ ผู้รับประทานจึงไม่ค่อยรู้สึกปวดมวนท้อง แต่หากรับประทานร่วมกับนมหรือยาลดกรด ก็จะทำให้ปวดท้องมาก อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาของยาตีกันในบางกลุ่ม ก็จะไม่มีอาการแสดงออกมาในทันที แต่จะไปทำให้ผลการรักษาลดลง เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง ซึ่งกว่าจะทราบก็อาจแก้ไขไม่ทันแล้ว ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง



ขอบคุณ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์