พ่อแม่พึงระวัง!เด็กเอเชียเสี่ยงสายตาสั้น-ตาบอดเพิ่มขึ้น

ภาพจาก มติชนภาพจาก มติชน

ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดระบุว่า เด็กๆชาวเอเชียมากกว่าร้อยละ 90  กำลังประสบกับภาวะสายตาสั้น โดยนักวิจัยเผยว่า ปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากนักเรียนเรียนหนังสือหนักเกินไป และได้สัมผัสกับแสงธรรมชาติน้อยเกินไป

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว อาจประสบกับภาวะความบกพร่องในการมองเห็นและอาจรุนแรงถึงตาบอด โดยศาสตราจารย์เอียน มอร์แกน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่า ประชากรในเขตเอเชียตะวันออก เฉลี่ยร้อยละ 20-30 มีอาการสายตาสั้น และอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น อาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 และกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่รุนแรง

ทั้งนี้ อาการสายตาสั้นคือการที่ลำแสงจะไปรวมเป็นจุดเดียวก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้ลำแสงที่ไปถึงจอประสาทตาเป็นลำแสงที่บานออก ไม่เป็นจุดเดียวจึงทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน  โดยจากข้อมูลของการวิจัยพบว่า สองปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวคือ เด็กคร่ำเคร่งกับการเรียนมากเกินไป และการขาดการรับแสงจากธรรมชาติ

ศ.มอร์แกนเผยว่า เด็กๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เวลาในการเรียนหนังสือและทำการบ้านนานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันในลูกตา แต่การสัมผัสกับแสงธรรมชาตินานประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะเป็นการถ่วงความสมดุลและช่วยให้ดวงตามีสุขภาพที่ดี
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สารเคมีที่เรียกว่า "โดฟามีน" มีบทบาทสำคัญที่สุด เนื่องจากการสัมผัสกับแสง จะทำให้ดวงตาผลิตสารโดฟามีนเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการยืดออกของลูกตา การให้ดวงตาได้ออกไปสัมผัสแสงธรรมชาติเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความสว่างราว 10-20,000 ลักซ์ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

นอกจากนั้น ปัจจัยด้านวัฒนธรรมยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่ออาการสายตาสั้น ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักให้เด็กเล็กนอนพักหลับในช่วงกลางวัน ทำให้เกิดการไม่ได้รับแสงธรรมชาติ  อีกทั้งแรงกดดันด้านการศึกษา ทำให้เด็กต้องมุ่งมั่นกับการเรียนมากเกินไป และขาดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กว่าร้อยละ 10-20 ของเด็กๆชาวเอเชีย มีแนวโน้มที่จะมีอาการสายตาสั้นอย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็น และอาจถึงขั้นตาบอดโดยสมบูรณ์

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิจัยเชื่อว่า องค์ประกอบด้านพันธุกรรมของเด็กชาวจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีส่วนในการพัฒนาของอาการสายตาสั้น แต่เสนอว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ขณะที่ในสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มาเลย์ และอินเดีย ซึ่งเชื้อชาติทั้งสามมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของภาวะสายตาสั้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์