น้ำสมุนไพรคลายร้อน

ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ตภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

ในสภาวะอากาศร้อนจัดอย่างนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ "น้ำ" เพราะหากร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ อาจทำให้ถึงขั้นขาดใจได้ค่ะ แต่บางคนว่าดื่มน้ำเปล่าๆไม่ค่อยอร่อย อยากได้รสชาติเปรี้ยวๆหวานๆให้ชื่นใจบ้าง ทว่าจะดื่มน้ำอัดลมคงเป็นการเพิ่มโทษให้แก่ร่างกาย เรื่องนี้ไม่ยากค่ะ น้ำสมุนไพรไทยเรานี่แหละ ดับกระหายคลายร้อน และให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมายทีเดียว....

น้ำกระเจี๊ยบแดง ช่วยย่อยอาหาร ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ เป็นยาบำรุงธาตุ และยาระบาย

น้ำมะนาว เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ แก้ท้องอืด ช่วยขับลม แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ แก้เลือดออกตามไรฟัน และถ่ายพยาธิ

น้ำกล้วยหอม มีน้ำตาลหลายชนิด มีสารเพคติน มีโปรตีน วิตามินเอและซี ธาตุฟอสฟอรัสและแคลเซียม

น้ำส้มเขียวหวาน แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ น้ำจากผลให้วิตามินซี

น้ำมะเขือเทศ ช่วยย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยระบายและช่วยฟอกเลือด

น้ำแครอท บำรุงสายตา รักษาโรคตาฟาง ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอด ให้ความสดชื่น มีฤทธิ์ในทางขับปัสสาวะ

น้ำเตยหอม ลดอาการกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคเบาหวาน

น้ำตะไคร้ รักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ และแก้อหิวาตกโรค แก้นิ่ว บำรุงธาตุ

น้ำมะระขี้นก ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้ร้อนใน

น้ำมะตูม ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้อาการร้อนใน

น้ำอัญชัน บำรุงสายตา แก้ตาฟาง ตาแฉะ ขับปัสสาวะ

แต่จะดื่มน้ำสมุนไพรให้ได้ประโยชน์ต้องมีเทคนิคกันนิดนึงค่ะ

1.การเลือกสมุนไพร ควรเลือกสมุนไพรสดๆเก็บมาจากต้นใหม่ๆตามฤดูกาล สีสันเป็นธรรมชาติ ไม่มีรอยช้ำเน่า สมุนไพรสดใหม่ช่วยให้ได้คุณค่าทางโภชนาการสูง สีสันน่ารับประทาน แต่ถ้าเป็นสมุนไพรแห้ง ควรเลือกสมุนไพรที่ใหม่สะอาด ดูลักษณะ สี กลิ่น และไม่มีเชื่อรา

2.ความสะอาดของสมุนไพร ควรล้างให้ถูกวิธี ถ้าเป็นสมุนไพรแห้งจะต้องล้างอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ถ้าเป็นสมุนไพรสด ควรล้างอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนที่ติดมา

3.ภาชนะที่ใช้ ต้องสะอาด เลือกให้เหมาะกับชนิดของสมุนไพร ภาชนะที่ต้มควรจะเป็นหม้อเคลือบ ไม่ควรใช้หม้ออลูมิเนียม เพราะอาจทำให้กรดที่อยู่ในสมุนไพรกัดภาชนะได้ ถ้าเป็นหม้อหรือกระทะทองเหลือง จะทำให้รสชาติของน้ำสมุนไพรเปลี่ยนไป นอกจากนี้การที่เราดื่มน้ำสมุนไพรที่มีโลหะหนักผสมอยู่ อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ สำหรับภาชนะที่บรรจุควรจะเป็นขวดแก้ว จะสะดวกในการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค และน้ำสมุนไพรจะไม่ทำปฏิกิริยากับขวดแก้วด้วย

อย่างไรก็ตาม น้ำสมุนไพรบางชนิดเมื่อดื่มครั้งแรกอาจจะไม่ถูกปากนัก เพราะฉะนั้นควรดื่มแบบจิบช้าๆ และดื่มทันทีที่ปรุงเสร็จ จะได้คุณค่าทางอาหารและยาค่ะ...แต่การดื่มน้ำสมุนไพรชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานานๆอาจทำให้เกิดการสะสมของสารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ดังนั้นเปลี่ยนรสชาติบ้างก็ดีค่ะ และที่สำคัญต้องไม่ลืมดื่มน้ำเปล่าสะอาดๆด้วยนะคะ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์