เตรียมพร้อมรับเปิดเทอมใหม่ หัวใจสดใสทั้งครอบครัว

เตรียมพร้อมรับเปิดเทอมใหม่ หัวใจสดใสทั้งครอบครัว


ผ่านพ้นช่วงซัมเมอร์มา ย่างเข้าสู่เดือนพฤษภา เดือนแห่งการเตรียมพร้อมเริ่มต้นเปิดเทอมใหม่ ซึ่งนับเป็นการเปิดเทอมใหญ่ที่หยุดมาหลายเดือน เมื่อเปิดเทอมใหม่กันที เด็กๆ ก็ต้องปรับตัวกันใหม่อีกครั้ง และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะยุคข้าวของแพงแบบนี้ 

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเปิดเทอมใหม่ให้เหล่าบรรดาพ่อแม่ได้เตรียมตัวไว้ว่า สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องเตรียมพร้อมคือการบริหารจัดการ การวางแผนการเงิน การเดินทางไปรับ-ส่งบุตรหลาน และที่สำคัญคือการเตรียมสภาวะจิตใจให้พร้อมในทุกด้าน เพราะเมื่อเปิดเทอมจะมีจังหวะอยู่ 2 แบบคือ การเปลี่ยนชั้นเรียนของลูกที่เปลี่ยนในโรงเรียนเดิม สิ่งแวดล้อม บรรยากาศภายในโรงเรียน เพื่อน อาจารย์ก็ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จึงไม่มีอะไรมากกับการปรับตัว

กับอีกสิ่งคือการเปลี่ยนโรงเรียนที่อาจเกิดจากการสอบคัดเลือก เปลี่ยนผ่านระดับชั้นประถมศึกษาสู่มัธยมศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่ต้องปรับตัว พ่อแม่จึงต้องช่วยวางแผนเตรียมพร้อมให้กับลูกด้วย โดยเฉพาะการปรับตัวตามพัฒนาการของลูก เช่น ระดับปฐมวัย พ่อแม่ยังทิ้งลูกไม่ได้ การไปรับ-ส่ง โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม เด็กต้องการความมั่นคงทางจิตใจมากเป็นพิเศษ ดังนั้นต้องวางแผนการรับส่งให้ตรงเวลา และหากเด็กที่อยู่ในพื้นฐานอารมณ์ที่ปรับตัวได้ยาก หรืออาจร้องไห้ พ่อแม่เองก็ต้องเตรียมพร้อมด้วยว่าต้องไม่เป็นอุปสรรค พ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายายที่เป็นที่พึ่งทางใจได้ต้องสร้างความอบอุ่นใจให้ได้

ถ้าเด็กวัยเรียน สิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษคือเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน ชั้นเรียนที่เปลี่ยนแปลง พ่อแม่จะเป็นคนหนึ่งที่จะเป็นครูมือสองและพร้อมจะเป็นที่ปรึกษาชั่วโมงการเรียน ค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้ลูกได้ และชุดของวัยรุ่น คือเรื่องการฝึกฝนการเป็นผู้ฟัง เช่น เวลาลูกไปเรียนระดับชั้นมัธยม ลูกจะเจอปัญหามากมาย ทั้งสังคมอารมณ์จิตใจของวัยรุ่น พ่อแม่ต้องฟังเขาว่ามีประเด็นอะไรเล่าสู่กันฟังบ้าง และอาศัยทักษะการฟังเพื่อแก้ไขปัญหา สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ผนวกกับเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น พ่อแม่ที่กำลังจะมีการแจกแท็บเล็ต ป.1พ่อแม่ต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ ต้องเรียนรู้การปรับตัวเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับลูก รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เรื่องเพศศึกษา สื่อศึกษา ภัยพิบัติ ภาษา วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นวัตกรรมให้กับลูก ดังนั้นหากมีการเตรียมการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นลูกวัยไหน หรือระดับชั้นไหน พ่อแม่จะสามารถรับมือได้แน่นอน และสุดท้ายฝากไว้ที่หัวใจของพ่อแม่ คิดอะไรไม่ออกก็ขอให้ใช้หัวใจของพ่อแม่แก้ปัญหาเป็นสำคัญ

“หากเรารู้จิตใจและอารมณ์ของลูก เราวางแผนร่วมกับครูที่โรงเรียนได้ อย่างเช่น เด็กพื้นฐานอารมณ์เลี้ยงง่าย เวลาไปส่งที่โรงเรียนถ้าเขาร้องไห้ เราก็ถอยห่างมาสักพักหนึ่ง เขาก็จะเงียบ แล้ววันต่อมาก็ไม่ร้องไห้อีก ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่เฝ้า และต้องมารับลูกให้ตรงเวลา โดยในช่วงสัปดาห์แรก พ่อแม่ที่ต้องไปรับลูกอาจต้องเตรียมพร้อมกับที่ทำงานในการเลิกงานเพื่อรับลูก แต่หากลูกจัดอยู่ในประเภทที่มีการปรับตัวยาก เช่น มีโรคทางกายและใจร่วมอยู่ด้วย เด็กบางคนป่วยทางโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ หอบหืด หรือมีโรคทางใจ จิตใจและอารมณ์ร่วมอยู่แล้ว หากเจอโจทย์ลักษณะนี้ต้องวางแผนร่วมกับครูที่โรงเรียน หรือหากมีหมอประจำก็ต้องปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอ และกลุ่มเหล่านี้พ่อแม่อาจต้องอุทิศเวลา

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์อารมณ์จริงๆ เช่น เด็กที่ต้องการกำลังใจมากเป็นพิเศษ ช่วงสัปดาห์แรกอาจต้องอยู่เป็นเพื่อนเขา และเข้าทำงานสายสักนิดหนึ่ง และค่อยๆ ปรับอยู่กับเขาให้สั้นลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามหมอต้องบอกว่าจริงๆ แล้วเด็กๆ ในบ้านเราเลี้ยงง่าย แต่พ่อแม่เองที่ทำให้เลี้ยงยาก โดยการตามใจลูกทุกเรื่อง เด็กเหล่านี้จะร้องไห้งอแง นั่นไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้องลางานเพื่อมาอยู่กับลูก แต่มันเกิดขึ้นจากการที่เป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงยาก ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่ถูกเรียกว่าเลี้ยงยากทางการแพทย์ เด็กเลี้ยงยากทางการแพทย์คือเด็กที่มีการป่วยทางจิตใจและอารมณ์จริงๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องวางแผนร่วมกับ”นพ.สุริยเดวกล่าว

เมื่อหยุดมานานหลายเดือน จากนิสัยเดิมๆ ที่เคยนอนดึก ตื่นสาย ขาดวินัยไปบ้าง หากต้องปรับตัวกันใหม่อีกครั้ง พ่อแม่ควรเริ่มเมื่อไหร่ถึงจะเหมาะสม

เรื่องนี้หมอเดวแนะนำว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนพฤษภาคม พ่อแม่อาจต้องส่งสัญญาณให้ลูกรับรู้แล้วว่าต้องปรับเวลาระเบียบวินัยต่างๆ ใหม่ โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเรียน ที่อาจมีการติดเกม ติดทีวีบ้าง ซึ่งพ่อแม่ต้องค่อยๆ ลดเวลากับลูกว่าจะให้เหลือกี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ต้องให้ลูกเสนอแผนและวิธีการอย่างไรไม่ให้ไปเรียนสาย ตื่นแต่เช้าได้ ไม่นั่งหลับในชั้นเรียน และมาปรับดูตามความเหมาะสม แต่หากลูกเป็นเด็กเกเร พ่อแม่อาจต้องยอมเหนื่อยเพิ่มขึ้น โดยต้องมีการติดตามที่โรงเรียน ติดตามเพื่อน ครู ว่าเขาปรับตัวได้อย่างไร และที่สำคัญห้ามใช้กระบวนการเชิงลบเด็ดขาด ต้องให้กำลังใจกับพฤติกรรมที่ดีของลูกเสมอ บางทีเราวังวนอยู่กับพฤติกรรมเชิงลบและดุด่าว่ากล่าว แต่เมื่อเขาทำได้ต้องชื่นชมเขาทันที หากไม่เกิดขึ้นในเรื่องบวกๆ บ้าง เราจะไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้เลย

ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะวางใจเสียไม่ได้ เรื่องนี้ รศ.ดร.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการ บาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีกล่าวเตือนว่า ในช่วงเปิดเทอมนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องระมัดระวัง คือการเดินทางไปโรงเรียนในแบบต่างๆ โดยเฉพาะการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เด็กวัย 3-6 ขวบ ถือเป็นวัยที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้เต็มที่ ดังนั้นการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพียงลำพังจึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ และที่สำคัญอย่าลืมสวมหมวกกันน็อคให้ลูกทุกครั้ง เช่นเดียวกับเด็กที่นั่งรถยนต์ก็ต้องไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนเด็กที่เดินหรือใช้ขนส่งสาธารณะมาเองพ่อแม่ต้องร่วมวางแผน ทบทวนเส้นทาง กำหนดจุดเสี่ยงอันตราย และอย่าลืมเตือนเรื่องคนแปลกหน้าที่ต้องสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ซึ่งตามปกติแล้วเด็กที่จะเดินทางเพียงลำพังควรมีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป

สำหรับอุปกรณ์การเรียนของมีคมต่างๆ เช่น มีดคัตเตอร์ วงเวียน พ่อแม่ต้องช่วยลูกดูแลใส่ในอุปกรณ์ให้เหมาะสมไม่ทิ่มแทงออกมานอกกระเป๋า ส่วนสีระบาย ไม่ว่าจะเป็นดินสอสี สีเทียน สีน้ำ สีไม้ก็ตาม ควรเลือกซื้อที่ได้มาตรฐานปลอดภัย หลีกเลี่ยงการซื้อสีที่ขายแบบไม่ได้มาตรฐาน เพราะเสี่ยงปนเปื้อนสารตะกั่ว ที่อาจส่งผลต่อสมองได้

สำหรับกระเป๋าสะพายนักเรียน น้ำหนักที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 15%ของน้ำหนักตัว เช่นเด็กมีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม น้ำหนักที่แบกได้ไม่ควรเกิน 3 กิโลกรัม เพราะการที่เด็กแบกกระเป๋าหนักเกินไป โดยเฉพาะเด็กระดับชั้น ป.2-4 ที่มักจะเอาของไปโรงเรียนหลายอย่าง อาจทำให้ปวดหลังได้ ดังนั้นนอกจากพ่อแม่จะช่วยเรื่องการจัดตารางเรียนแล้ว อาจต้องพูดคุยกับครูที่โรงเรียนเรื่องการนำของไปโรงเรียนด้วย ส่วนประเภทกระเป๋าลากและกระเป๋าถืออาจไม่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องขึ้นรถประจำทาง เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

อีกเพียงไม่กี่วันเด็กๆ ก็ต้องกลับเข้าสู่โหมดแห่งระเบียบวินัย และการเป็นนักเรียน พ่อแม่คือกลไกสำคัญที่จะทำให้การเปิดเทอมใหม่ของลูกสดใส ไร้กังวล แม้ยามเปิดเทอมอาจจะต้องพบกับปัญหาเรื่องการเงินอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหัวใจของความเป็นพ่อเป็นแม่จะเป็นตัวก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้อย่างแน่นอน



ขอบคุณ : thaihealth.or.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์