มารู้จักโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก

มารู้จักโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก


ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินข่าวเรื่องดารานักแสดงหลายคนมีอาการใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ฟังดูน่ากลัวแถมยังมีผลอย่างมากต่อรูปลักษณ์ที่เป็นส่วนสำคัญต่อบุคลิก การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน

โดยบางคนอาจกังวลว่า อาการใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกนี้เป็นอาการรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ หรือถ้าเป็นแล้วจะหายเป็นปกติหรือไม่ 

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก หรือที่เรียกว่าโรคเบลล์พัลซี่ (Bell’s palsy) กัน

     โรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก หรือ Bell’s palsy นี้ได้ถูกบรรยายครั้งแรกโดยเซอร์ชาร์ลส์ เบลล์ แพทย์ชาวสกอตแลนด์ในปี พ.ศ.2372 และพบว่า เกิดจากรอยโรคที่เส้นประสาทสมองที่ 7 ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า น่าแปลกที่ว่า ผู้ป่วยมักเป็นที่ใบหน้าข้างขวามากกว่าข้างซ้ายเล็กน้อย โรคนี้พบได้บ่อยมากคือในช่วงชีวิตหนึ่งของคนทั่วไปมีโอกาสเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 1

กลุ่มเสี่ยง
     สำหรับคนทั่วไปจะมีความเสี่ยงสูงตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาด้านการอุดตันของหลอดเลือดขนาดเล็กที่เส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทตายจากการขาดเลือด และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อใหม่หรือการกำเริบของไวรัสในร่างกาย

สาเหตุ
     ผู้ป่วยโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกเกือบทั้งหมดไม่ได้มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก และสาเหตุในผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเริม (Herpes simplex virus type1) หรือไวรัสอื่นๆ ที่เส้นประสาทสมองที่ 7 เช่น ไวรัสโรคสุกใส ไวรัสเอปสไตน์บาร์ หรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไลม์ ซึ่งการติดเชื้อข้างต้นนี้อาจเป็นการติดเชื้อใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเป็นการกำเริบจากการติดเชื้อที่แฝงอยู่เดิมในร่างกายก็ได้ เมื่อร่างกายอ่อนแรงลง ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยความเครียดทางจิตใจ หรือจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือโรคทางกายอื่นๆ ก็จะทำให้เกิดโรคขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักไม่ทราบสาเหตุที่จำเพาะของโรคนี้

      นอกจากนั้นแล้ว ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองที่ 7 ที่ทำให้เกิดอาการไม่ต่างจาก Bell’s palsy ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น อุบัติเหตุต่อเส้นประสาทโดยตรง การติดเชื้อบริเวณข้างเคียง หูชั้นในอักเสบติดเชื้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 

อาการ
     • อาการเด่นที่มักนำผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรง หรือที่เรียกว่าอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก โดยเกิดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือข้ามคืน 
     • ผู้ป่วยมักปิดตาไม่สนิท ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ง่าย มีน้ำตาไหลมากขึ้น 
     • เนื่องจากเส้นประสาทสมองที่ 7 นี้มีแขนงเล็กๆ ไปที่กล้ามเนื้อของหูชั้นกลาง บางรายจึงอาจมีอาการปวดบริเวณหลังหูร่วมด้วย เช่น รู้สึกว่ามีเสียงดังหรือก้องขึ้นในหูด้านเดียวกัน 
     • บางรายอาจมีการรับรสที่ผิดปกติร่วมด้วย แต่เป็นส่วนน้อย

การวินิจฉัย
     แพทย์จะซักประวัติถึงอาการและระยะเวลาที่เกิดขึ้น อาการร่วมอื่น สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ และตรวจร่างกาย เพื่อยืนยันถึงรอยโรคที่เส้นประสาทสมองนี้ และแยกโรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันออกไป

      โดยรูปแบบของอาการใบหน้าอ่อนแรงในโรคนี้จะมีลักษณะพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากความผิดปกติของใบหน้าอ่อนแรงที่เกิดจากเหตุโรคในสมองคือ กลุ่มกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งครึ่งซีกที่รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก (ที่ใช้ยักคิ้ว/ย่นหน้าผาก) และกลุ่มกล้ามเนื้อส่วนล่างของใบหน้า (ที่ใช้แสยะยิ้ม แยกเขี้ยว เม้มปาก) จะมีความผิดปกติทั้งคู่ ผู้ป่วยจึงดูมีลักษณะว่าใบหน้าด้านนั้นดูห้อยลง ปิดตาไม่สนิท ย่นหน้าผากไม่ได้ ดื่มน้ำแล้วน้ำซึมจากมุมปาก หรือเมื่อให้ผู้ป่วยยิงฟัน หน้าจะถูกดึงไปด้านตรงข้าม ทำให้ดูเหมือนว่าหน้าเบี้ยวด้านตรงข้าม 

โดยทั่วไป แพทย์จึงมักให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมพิเศษ ส่วนในรายที่สงสัยว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูงข้างต้น เช่น เป็นโรคเบาหวาน และเป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็ควรตรวจหาโรคเบาหวาน โรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ ตรวจเอกซเรย์ หรือภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง ฯลฯ

การรักษา
     ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่แน่นอนก่อน แม้ว่าโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาพิเศษ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อของผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรคตั้งแต่ต้น และผู้สูงอายุจะฟื้นตัวช้ากว่าวัยอื่น แต่โดยเฉลี่ยอาการจะเริ่มดีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และดีขึ้นเรื่อยๆ ไปตลอดในช่วง 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มช้าลง แต่หลังจากมีอาการนาน 6 เดือนถึง 1 ปี โอกาสที่อาการจะดีขึ้นจะลดลงมาก

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการวิจัยเพื่อหายามารักษาให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยาต้านไวรัสและยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งข้อมูลของงานวิจัยที่ผ่านมา ยืนยันถึงประโยชน์ของการให้ยาสเตียรอยด์ เช่น การให้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) เป็นเวลา 7-14 วัน จะทำให้เส้นประสาทมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น และลดความพิการจากโรคได้บ้าง แต่ต้องให้ยานี้ภายใน 2-3 วัน 

หลังเกิดอาการขึ้น หากให้ช้ากว่านั้นจะไม่ได้ประโยชน์เท่าไร ส่วนยาต้านไวรัส เช่น acyclovir พบว่า มีประโยชน์ไม่ชัดเจน และหากจะให้ก็ควรที่จะให้โดยเร็วเช่นกัน 

ส่วนการทำกายภาพบำบัด การกระตุ้นไฟฟ้า การฝังเข็มนั้นยังสรุปผลไม่ชัดเจน จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นแนวทางการรักษามาตรฐาน

ภาวะแทรกซ้อนของโรค
     โดยรวมผู้ป่วยราวร้อยละ 70-80 จะมีอาการหายสนิท แต่ส่วนหนึ่งจะมีอาการใบหน้าเป็นอัมพาตเพียงบางส่วน ส่วนน้อยจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาตบางส่วนถาวร ใบหน้ากระตุก ซึ่งอาการสำคัญคือ กล้ามเนื้อใบหน้าหดตัวไม่ประสานกัน (synkinesis) เช่น เมื่อผู้ป่วยปิดตา มุมปากจะกระตุกขึ้น ปรากฎการณ์นี้เกิดจากการที่เส้นประสาทงอกกลับไปที่กล้ามเนื้อผิดตำแหน่ง ทำให้การควบคุมของกล้ามเนื้อผิดปกติ ส่วนในบางราย การงอกกลับที่ผิดปกติของเส้นประสาทนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีน้ำตาไหลขณะกินอาหาร ที่เรียกว่า “กลุ่มอาการน้ำตาจระเข้” (crocodile tear syndrome)

วิธีการดูแลและปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
     • การดูแลดวงตา เนื่องจากผู้ป่วยมักปิดตาได้ไม่สนิท ทำให้เกิดการระคายเคืองตา ตาแห้ง และกระจกตาแห้งได้ง่าย จึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ่อยๆ เช่น ใช้น้ำตาเทียมทุก 2-4 ชั่วโมงในระหว่างวัน และใช้น้ำตาเทียมชนิดเจลหรือขี้ผึ้งหยอดตาก่อนนอน ส่วนในช่วงกลางวันควรใส่แว่นเพื่อป้องกันฝุ่นและป้องกันอุบัติเหตุต่อตา ในช่วงกลางคืนอาจใช้เทปช่วยปิดเปลือกตาให้หลับตาได้สนิท หรือใช้แผ่นปิดตาปิดชั่วคราวในระหว่างนั้น
     • การรับประทานอาหารและดื่มน้ำ ควรทำอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหรืออาหารหก หรือรั่วจากมุมปาก (ผู้ป่วยมักใช้หลอดดูดเครื่องดื่มไม่ได้เพราะปิดปากไม่สนิท
     • ควรบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าในระหว่างที่เส้นประสาทกำลังฟื้นตัว เช่น ฝึกยิงฟัน หลับตา เม้มปาก ย่นหน้าผาก
     • ควรรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง หากได้รับยาต้านไวรัสและสเตียรอยด์
     • ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อประเมินใหม่อีกครั้ง หากมีอาการอื่นเพิ่มขึ้นจากใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก เช่น มีอาการเดิมในด้านตรงข้าม เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน การได้ยินลดลง ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง 
     • อาจปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดกล้ามเนื้อบางส่วน หากผู้ป่วยยังมีอาการไม่ดีขึ้นหลังเวลาผ่านไป 6 เดือน - 1 ปีแรก และมีภาวะแทรกซ้อนของการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้า ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแสดงสีหน้าได้บ้าง โดยเฉพาะการยิ้ม

     จากข้อมูลข้างต้น ผู้อ่านคงจะสบายใจขึ้นบ้างว่า โรคนี้ไม่เป็นอันตรายมากนัก ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติในช่วงเวลา 3 เดือน โดยอาจใช้ยาบางชนิดร่วมด้วยเพื่อให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ระหว่างนั้นก็ควรระวังภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อที่กระจกตาและตาแห้ง ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นก็ยังมีแนวทางการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย


ขอบคุณ : healthtoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์