ใช้ฟันชุดที่สามปลอดภัย แนะใส่รากเทียม

ภาพจาก เดลินิวส์ภาพจาก เดลินิวส์

เป็นที่รู้กันดีว่า คนเรามีฟัน 2 ชุด คือ ฟันน้ำนม และฟันแท้ มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในการบดเคี้ยวอาหาร การออกเสียง และความสวยงาม แต่หากฟันแท้หลุดออกไป อาจเพราะอุบัติเหตุ ยีนในร่างกายผิดปกติ ฟันผุ โรคปริทันต์ หลายคนมักปรึกษาทันตแพทย์แก้ไขปัญหา อย่างน้อยก็เพื่อให้ได้ฟันชุดที่ 3 หรือฟันปลอม ใส่ใช้งานแทนฟันธรรมชาติ จะได้เคี้ยวอาหารได้สะดวก พูดชัด และดูสวยงาม

ในการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “เสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้วยรากฟันเทียม” จัดโดยสตรอแมนน์นั้น ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ชำนาญการรากเทียมและสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมทันตกรรมรากเทียมนานาชาติ เผยว่า คนเราจะสูญเสียรากฟันไปพร้อมกับฟันที่หลุดออก โดยหลังจากฟันแท้หลุดร่วงไปก็นิยมใส่ฟันปลอม ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่กว่าฟันธรรมชาติ รู้สึกได้ชัดเจนว่าไม่ใช่ฟัน เวลาเคี้ยวอาหารฟันปลอมมักขยับ ไม่ถนัดปาก เวลาใส่ไปนานๆ อาจทำให้กระดูกบริเวณที่รองรับฐานฟันปลอมยุบหรือละลาย ส่งผลให้รูปหน้าเปลี่ยนไป

ทันตแพทย์ชัชชัย บอกอีกว่า หากไม่เลือกใส่ฟันปลอมเพียงอย่างเดียว เพราะเกรงปัญหาข้างต้น ทันตแพทย์จะรักษาโดยทำรากฟันเทียม คือ การผ่าตัดฝังรากเทียมที่เป็นน็อตไทเทเนียมใส่ลงไปในกระดูกขากรรไกร ให้ทำหน้าที่แทนรากฟัน แล้วจึงทำครอบฟันทับรากเทียมเอาไว้ การครอบฟันบนรากฟันเทียม มีทั้งแบบถอดครอบฟันออกได้ และถอดไม่ได้

การทำรากฟันเทียม เกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว โดยรากฟันเทียมทำจากไทเทเนียม เป็นวัสดุที่สามารถเข้ากับร่างกายของมนุษย์และกระดูกได้เป็นอย่างดี ทำหน้าที่เสมือนฐานรากสำหรับการเชื่อมฟันปลอมแต่ละซี่ สะพานฟัน หรือเป็นตัวยึดของฟันปลอมทั้งหมด รากฟันเทียมยังช่วยถ่ายเทน้ำหนักในการเคี้ยวอาหารให้ถ่ายเทไปยังขากรรไกร จึงช่วยรักษากระดูกให้มีสภาพเดิม หากไม่มีรากฟันเทียมหรือใช้สะพานฟันแบบเดิมหรือการใช้ฟันปลอมบางส่วน กระดูกอาจจะยุบและทำให้รูปร่างของใบหน้าเปลี่ยน

ขั้นตอนคร่าวๆ ในการใส่รากฟันเทียมนั้น ทันตแพทย์ชัชชัย เล่าว่า เริ่มจากการตรวจสภาพช่องปาก ขนาดกระดูก จากนั้นจึงผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ซึ่งเจ็บปวดน้อยกว่าผ่าตัดฟันคุดเสียอีก  เมื่อฝังรากเทียมแล้วต้องรอให้กระดูกขากรรไกรจับกับรากฟันเทียมได้เป็นอย่างดีก่อน  ราว  2-3 เดือน หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดูก หากพบว่ากระดูกขากรรไกรเข้ากับรากฟันเทียมดีแล้ว จึงทำการต่อเดือยรองรับครอบฟัน และทำครอบฟันเป็นอันเสร็จ เฉลี่ยระยะเวลาทุกขั้นตอนรวมกันอาจใช้เวลาเกือบปี ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถรับการรักษาใส่รากฟันเทียมได้ต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือจนกว่าร่างกายหยุดเจริญเติบโต

อย่างไรก็ตาม บางคนไม่สามารถใส่รากฟันเทียม หากเข้าข่ายข้อห้าม คือ มีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ เช่น เบาหวานแบบที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ที่ควบคุมโรคไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราความสำเร็จของการทำรากฟันเทียมนั้นน้อยกว่าคนไม่สูบ โดยเสี่ยงรากฟันเทียมไม่ยึดติดกับกระดูก ทั้งยังมีรายงานว่า ผู้ที่กินยารักษาโรคกระดูกพรุนบางชนิด หลังผ่าตัดฝังรากเทียม หรือผ่าตัดในช่องปากแล้ว แผลไม่หาย โดยแพทย์กำลังศึกษาความชัดเจนกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สตรอแมนน์ ยังได้อัพเดทนวัตกรรมล่าสุดของรากฟันเทียมด้วยว่า ปัจจุบันมีรากฟันเทียมชนิดใหม่ มีผิวพิเศษช่วยลดระยะเวลาในการรักษา หลังจากใส่รากฟันเทียมแล้ว จาก 6-8 สัปดาห์ เหลือเพียง 3-4 สัปดาห์เท่านั้น และยังมีนวัตกรรมวัสดุใหม่ของรากฟันเทียม ซึ่งผสมผสานระหว่างไทเทเนียมและเซอร์โคเนียม จากการทดสอบพบว่า มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นได้สูงกว่ารากฟันเทียมไทเทเนียมบริสุทธิ์ แถมวัสดุพิเศษนี้ ทำให้รากฟันเทียมมีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับคนเอเชียซึ่งมีรากฟันที่เล็กกว่าคนในทวีปอื่นๆ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์