ไม่เสียเปรียบ ถ้ารู้ “สิทธิของผู้บริโภค”

ไม่เสียเปรียบ ถ้ารู้ “สิทธิของผู้บริโภค”


       สมัยก่อนการซื้อของใช้อุปโภคบริโภค ซื้อบริการหรือกระทั่งการทำสัญญาต่างๆ คนไทยตาดำๆ มักจะถูกเอาเปรียบจากผู้ขายได้ง่ายๆ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นางแตงไทยส่งเงินผ่อนรถกับบริษัทมหาโหดจำกัดไม่ตรงเวลา เรียกว่าผิดนัดผิดสัญญาเลยโดนบริษัทมหาโหดยึดทั้งรถยึดทั้งเงินไปทันที หรือสินค้าเครื่องสำอางบางชนิดโฆษณาเกินจริง เช่น ครีมทาหน้าขาวตราขาวเว่อร์ โฆษณาว่าทาแล้วขาวใสภายใน 7 วัน แต่ที่จริงแล้วทาเป็นเดือนก็ยังไม่ขาวแถมหน้าพังอีก เสียรู้ไม่พอเสียโฉมอีกต่างหาก...แล้วจะไปเรียกร้องกับใคร?

      ปัจจุบันนี้การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทยดีขึ้นมาก มีการออกกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ของเราไว้อย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลตรงตามความเป็นจริงประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ เช่น กรณีการทำสัญญาเช่าซื้อรถของนางแตงไทยก็จะต้องมีข้อกำหนดต่างๆ ระบุไว้อย่างครบถ้วนในหนังสือสัญญาว่าหากจะมีการเลิกสัญญา เพราะผิดนัดจะต้องแจ้งเตือนก่อน นอกจากนี้หากสัญญาที่ผู้ขายทำมาไม่เป็นธรรมหรือมีข้อความที่ให้สิทธิผู้บริโภคน้อยกว่าหรือเป็นโทษ ข้อสัญญาแบบนี้ก็ใช้บังคับไม่ได้ นางแตงไทยสามารถเรียกร้องให้ผู้ขายใช้ข้อความที่เป็นธรรมซึ่งระบุในแบบของสัญญาที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดไว้ได้

หรืออย่างกรณีครีมทาหน้าขาว ปัจจุบันมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงการเขียนคำโฆษณาอย่างนี้จึงผิดกฎหมาย นอกจากนี้การโฆษณายังต้องระบุข้อมูลตามความเป็นจริงด้วย เช่น ระบุว่าเป็นผลจากการทดสอบกับผู้หญิงเท่านั้นเท่านี้คน จำนวนกี่คนที่ใช้แล้วพอใจ เป็นต้น ดังนั้นหากสังเกตให้ดีมักจะเห็นตัวอักษรเล็กๆอยู่ด้านล่างของโฆษณาหรือฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งวันนี้กฎหมายไม่เพียงคุ้มครองแค่ห้ามโฆษณาเกินจริงเท่านั้น หากคุณใช้ครีมทาหน้าขาวแล้วหน้าพังเสียโฉม เพราะส่วนผสมของครีมเดิมอาจเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะค่ารักษาซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแก่ร่างกายเท่านั้น แต่กฎหมายในปัจจุบันคุณสามารถเรียกค่าเสียหายทางจิตใจเพิ่มเติมได้อีกด้วยที่เรียกว่า “สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายทางจิตใจ” เช่น ใช้ครีมแล้วหน้าพังทำให้อับอายผู้คน กระทบกระเทือนต่อจิตใจ แต่ค่าความเสียหายจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นกับศาลท่านจะเป็นผู้กำหนดซึ่งต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับหน้าตาก่อนเกิดความเสียหายด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเรารู้ “สิทธิผู้บริโภค” มากขึ้นก็จะไม่เสียเปรียบคนขายสินค้า หรืออย่างน้อยก็รู้จักระมัดระวังตัวมากขึ้น สุดท้ายนี้อยากเรียนให้ทราบว่าท่านมีสิทธิมากมายที่กฎหมายได้มอบไว้ให้ ดังนั้นหากโดนเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ขอแนะนำให้ติดต่อสอบถามสิทธิของท่านไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือเข้าไปดูที่เว็บไซต์ http://www.ocpb.go.th ซึ่งที่นี่ยังช่วยเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของท่านกับผู้ประกอบการ ตลอดจนดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิด


นอกจากนี้กฎหมายยังได้มอบสิทธิให้ท่านอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ “สิทธิฟ้องคดีได้เองของผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้ทนายความ” ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมในการส่งเอกสารและบังคับคดี และค่าธรรมเนียมอื่นๆ) โดยคดีผู้บริโภคจะมีพนักงานคดีเป็นบุคลากรทางกฎหมายให้ความช่วยเหลือคู่ความให้ครับ



ที่มา วิชาการดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์