รู้รักสุขภาพชุ่มฉ่ำหน้าฝน

รู้รักสุขภาพชุ่มฉ่ำหน้าฝน


ช่วงนี้ต้องบอกว่าเมื่อก้าวออกจากบ้าน สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมพกไว้ในกระเป๋าคงหนีไม่พ้น “ร่ม” คันกำลังพอดี พร้อมกับกระดาษทิชชู เพราะถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพกในหน้าฝนเลยค่ะ เลยไปถึงการแต่งกาย เสื้อผ้าและรองเท้าก็ต้องพร้อมรับความชื้นเปียกฝนได้ด้วย และสิ่งที่จะขาดการคำนึงถึงไม่ได้เลยคือการระวังสุขภาพนะคะ


ล่าสุด จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนประชาชนถึงโรคที่มักมาพร้อมกับฤดูฝนที่พบบ่อยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่ 

1.กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อย มี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินสุกๆ ดิบๆ 

2.กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวม มีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือ หอบเหนื่อย

3.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นของโรคนี้คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง

4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) ตัวนำโรคมาจากยุงรำคาญ ซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนา และโรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้ อาการเริ่มจากมีไข้สูงปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้ และ 5.กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา

บางโรคบางอย่างเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เรามองข้ามกันนะคะ เพราะคิดว่าโดนฝนเล็กน้อยก็คงไม่เป็นอะไรมาก แต่ในทุกครั้งที่เปียกฝนเมื่อกลับถึงบ้าน ต้องรีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เช็ดตัวให้แห้งนะคะ เพราะยิ่งเราอยู่กับความชื้นแฉะนานๆ ยิ่งทำให้เราเกิดโรคได้ง่ายเลยค่ะ

และยิ่งเป็นเด็กด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังให้มากนะคะ เพราะจากระบบรายงานทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2544-2554 มีรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบสูงถึงร้อยละ 90.8 โดยมีการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กเป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 พฤษภาคม 2555 พบผู้ป่วย โรคมือ เท้า ปาก รวมทั้งสิ้น 6,109 ราย จาก 77 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุแรกเกิด - 1 ปี ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต 

สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่อยู่ในลำไส้คน (Enterovirus) ส่วนใหญ่พบในเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  เพราะยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า และในปาก  ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ และมักจะระบาดในช่วงหน้าฝน ทั้งนี้ในการเฝ้าระวังโรคผู้ปกครอง หากพบแผลในปาก หรือเด็กมักจะบ่นว่าเจ็บปาก กินไม่ได้ ควรให้เด็กหยุดเรียนอยู่ที่บ้านไม่ไปเล่นคลุกคลีกับคนอื่น 1 สัปดาห์ และที่บ้านควรแยกภาชนะ ของใช้จากคนอื่นในครอบครัว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการแผลในปากเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีผื่นตามมือ หรือเท้าก็ได้  สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่นๆ และในสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนของการเฝ้าระวังการป่วยในเด็ก ควรแจ้งโรงเรียนหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเมื่อพบเด็กที่มีอาการแผลในปากและสงสัยโรคมือเท้าปาก


รู้แบบนี้แล้ว ป้องกันไว้ก่อนจะดีมากนะคะ ฝนนี้ จะได้เริงร่ารับลมฝนอย่างชุ่มฉ่ำค่ะ



ขอบคุณ : สุนันทา สุขสุมิตร Team content thaihealth เรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์