แยกแยะสัญญาณ “ความหิว”ช่วยคุมน้ำหนักด้วยตนเอง

แยกแยะสัญญาณ “ความหิว”ช่วยคุมน้ำหนักด้วยตนเอง


โภชนากรซูซาน โบเวอร์แมน ที่ปรึกษาของเฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด กล่าวว่า การใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบของคนยุคนี้ทำให้มองข้ามหรือละเลย “เรื่องเล็กน้อย” ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพไปโดยไม่รู้ตัว 

ซึ่ง “เรื่องเล็กๆ” ที่ถูกเพิกเฉยหรือไม่สนใจมากที่สุดก็คือ สัญญาณ “ความหิว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการควบคุมน้ำหนัก ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็น “เรื่องใหญ่” และเป็นดาบสองคมอย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะมันทำให้เราสับสนและแยกแยะไม่ออกว่า “ความหิว” ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น เป็น “ความหิวที่ร่างกายต้องการอาหารจริงๆ” หรือ “หิวเพราะแค่อยากกินกันแน่”

ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก หรือเข้าคอร์สลดน้ำหนักโดยไม่ตั้งใจ เราต้องฟัง “สัญญาณของความหิว” ของตัวเราเอง เพราะในแต่ละคนจะแสดงปฏิกิริยาของความหิวแตกต่างกันออกไป และเพื่อให้แน่ใจว่า “ความหิว” ที่เกิดขึ้นนั้น เป็น “ความหิวที่เกิดจากความต้องการของร่างกายจริงๆ” หรือ “ความอยากกิน” ก็มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้ 

1.เมื่อขาด “พลังงาน” ร่างกายก็จะเริ่มส่งสัญญาณ “ความหิว” เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะขาดพลังงาน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีปริมาณต่ำลง ก่อนการรับประทานอาหารมื้อถัดไป มันจะส่งสัญญาณให้เรารู้ผ่านปฏิกิริยาต่างๆ เช่น รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียและหน้ามืด แต่สัญญาณเตือนชั้นดีที่สร้างความมั่นใจว่า “ร่างกายขาดพลังงานจริงๆ” คือ “เสียงท้องร้อง”
    
2.เช็กระดับสัญญาณ “หิวจริง” หรือ “อิ่ม” ได้ด้วยการจดบันทึก “อาการของความหิว” ทั้งก่อนและหลังกินเสร็จในทุกมื้อ โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนความหิวหรืออิ่ม ตั้งแต่ 1 ที่เป็นระดับของความหิวมากถึง 10 ซึ่งหมายถึงอิ่มแน่นจนเริ่มไม่สบายตัว การจดบันทึกจะช่วยทำให้เราประเมินได้ว่า จริงๆ แล้วเราควรหยุดกินเมื่อไหร่กันแน่ ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัวว่าอิ่มและหยุดกินอาหารได้แล้ว ก็มักจะแน่นท้องทรมานไปแล้ว

3.เราควรจะเริ่มกินเมื่อระดับความหิวอยู่ที่ระดับ 3 ถึง 4 ซึ่งกระเพาะอาหารของเราจะร้องเบาๆ นั่นเป็น “สัญญาณ” บอกว่า เราควรเริ่มกินได้แล้ว และควรหยุดเมื่อระดับความหิวอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 นั่นหมายถึง เรากำลังอิ่มในระดับที่เรียกว่าพอดี แต่หากเราปล่อยให้ความหิวไต่ระดับไปถึง 1 หรือ 2 คือ “หิวจัด” จนตาลายแล้วล่ะก็ เรามักจะเบรกแตกและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนถึงระดับความอิ่มที่ 9 หรือ 10 ผลคือ อิ่มแน่นจนทรมานทีเดียว

4.“อิ่ม” อร่อยอย่างมีคุณภาพ เมื่อฝึกแยกแยะและวิเคราห์ระดับความหิว-อิ่มแล้ว ให้จำไว้ว่า “กินแค่พออิ่ม” ซึ่งเทคนิคการกินให้อิ่มอย่างง่ายๆ คือฟัง “สัญญาณ” และสังเกตปฏิกิริยาจากร่างกายของเรานั่นเอง เช่น อัตราการเคี้ยวและความเร็วในการกินอาหารจะช้าลง และที่สำคัญควรใส่ใจเรื่องคุณค่าของสารอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อร่วมด้วย 

อย่างไรก็ตามเราสามารถฝึกทักษะเพื่อการรับรู้และตอบสนองต่อ “ความหิวและความอิ่ม” ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายได้อย่างง่ายๆ โดยใช้เวลา 3-4 วันในการฝึกและสังเกตในช่วงแรก เริ่มจากการบันทึกรายการอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละมื้อ และลองสังเกต “ระดับความหิว” ทั้งก่อนและหลังการกินอาหารว่าอยู่ในระดับไหน เพราะร่างกายของเรามีความฉลาดในการแยกว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการ การฝึกฟังเสียง “สัญญาณ” จากภายในร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราแน่ใจว่าก่อนจะส่งอาหารเข้าปาก เรามั่นใจแล้วว่า “หิวจริงๆ นะ” ไม่ใช่แค่ “อยากกิน” เพราะไม่อย่างนั้น คงต้องเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักกันยาว.


ขอบคุณ : ไทยโพสต์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์