หลากวิธี เก็บความลับให้สมาร์ทโฟน

ภาพจาก มติชนภาพจาก มติชน

ถ้าไม่มี "ความลับ" ก็แล้วไป แต่ถ้ามีล่ะ จะทำอย่างไรถึงจะสามารถป้องกันไม่ให้ "ข้อความ" ที่เราส่งไปหาใครสักคนหรือหลายๆ คน ยังคงเป็นความลับอยู่ได้ต่อไป เพื่อให้ข้อความทั้งหลายที่ส่งออกไป ไม่มีใครอื่นอ่านได้ ยกเว้นคุณเองและผู้รับข้อความนั้น

ในกรณีเป็น ไอโอเอส (ระบบปฏิบัติการของไอโฟน) คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็คือให้ติดตั้ง แอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า "เอ็นคริปต์ เอสเอ็มเอส" (Encrypt SMS) ที่จะเข้ารหัสข้อความทั้งหลายที่คุณส่งออกไปด้วยวิธีเข้ารหัสแบบ เออีเอส-256 (AES-256) ศักยภาพของการเข้ารหัสแบบนี้ไม่ต้องบรรยายให้มากความ เพราะ จูเลียน แอสแซนจ์ เจ้าพ่อแห่ง "วิกิลีคส์" ก็ใช้ เออีเอส-256 นี่แหละในการเข้ารหัสไฟล์ "เทอร์โมนิวเคลียร์ อินชัวรันซ์" เพื่อป้องกันการถูก "ล้วงตับ" คืน หลังจากที่ล้วงควักของชาวบ้านเขามาแล้ว

ปัญหาก็คือมันมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับหนึ่งแล้วคนรับก็ต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่นเดียวกันนี้ด้วย แต่นอกเหนือจากเข้ารหัสแล้วตัวข้อความของเรายังมีพาสเวิร์ดอีกต่างหาก

ในกรณีที่โทรศัพท์ของคุณเป็นแอนดรอยด์ และต้องการใช้การเข้ารหัสในระดับเดียวกัน คำแนะนำก็คือแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ "เท็กซ์ซีเคียว" (TextSecure) ของ "วิสเปอร์ซิส" ที่จะใส่กุญแจข้อความของคุณตั้งแต่ต้น ชนิดเก็บแคชไว้เฉพาะในโทรศัพท์เท่านั้น

พ้นจากเรื่องข้อความแล้ว ก็มาถึงเรื่องการโทร.ที่ว่ากันว่า ถึงจะไฮเทคโนโลยีขนาดไหนแต่สมาร์ทโฟนก็ยังดักฟังง่ายอยู่ดี ถ้าคุยกันเรื่องกะโหลกกะลาก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าพูดกันเรื่องธุรกิจร้อยล้านพันล้านก็คงไม่อยากให้ใครมาฟังก่อนดีลจะจบเป็นแน่

ทางออกสำหรับ ไอโอเอส ก็คือ แอพพลิเคชั่น "เซลล์คริปต์" (CellCrypt) แอพพลิเคชั่นนี้ทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาล (อเมริกัน) ใช้โดยเฉพาะ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพ แต่อยู่ที่ค่าใช้จ่ายรายเดือน ใครที่คิดว่าไม่ไหวก็ลองดู "คริปโทส" (Kryptos) แทนก็ได้ ทั้งคู่ใช้การเข้ารหัสแบบ เออีเอส-256 เหมือนๆ กัน

ในส่วนของ แอนดรอยด์ วิสเปอร์ซิส เจ้าเก่ามีแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า "เรดโฟน" (RedPhone) มาให้ใช้ เป็นการเข้ารหัสการโทรศัพท์ของเราตั้งแต่ต้นสายยันปลายสายเลยทีเดียว

ทีนี้ถ้าหากใครขี้ระแวงมากสักหน่อยก็คงบอกว่า "ไวไฟ ฮอตสปอต" น่ะ เป็นอะไรที่เจาะง่ายที่สุดแล้วสำหรับแฮกเกอร์ทั้งหลาย ถ้าใครที่ใช้ไอโฟนกังวลเรื่องนี้ ก็ลองหันมาใช้ "ไอแมสเสจ" (iMessage) ที่จะทำให้อุปกรณ์ของแอปเปิลทั้งหลายสื่อสารซึ่งกันและกัน ในแบบที่ผู้ให้บริการไวไฟเองก็ยากขึ้นอีกหน่อยที่จะเจาะเข้าไปตรวจสอบ

หรือจะทดลองใช้ทางเลือกที่เป็น วอยซ์ โอเวอร์ ไอพี (วีโอไอพี) ซึ่งมีหลายแอพพลิเคชั่นให้เลือกทั้งที่เป็นไอโอเอส, แอนดรอยด์ หรือแม้แต่วินโดว์ส โฟน อาทิ "เท็กซ์พลัส" (TextPlus) หรือ "ทอล์กอะโทน" (Talkatone) หรือจะเลือกใช้ "ซีซิปซิมเปิล" (CSipSimple) แอพพลิเคชั่น วีโอไอพี ที่ให้น้ำหนักด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ ด้วยการจัดทำแหล่งเก็บข้อมูลการโทรศัพท์ของตัวเอง ที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับเนื้อหาในการโทร.เลยแม้แต่น้อย

แต่ว่ากันว่า ไม่มีวิธีการเก็บรักษาความลับใดได้ดีกว่าการไม่มีความลับอีกแล้วครับ!


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์