ร่างกายฟิต ตามชนิดของงาน

ร่างกายฟิต ตามชนิดของงาน


มีงานทำยังดีกว่าไม่มีงานค่ะ แต่ถ้างานนั้นต้องใช้ขุมพลังของชีวิตมากเกินไปก็ต้องพิจารณาให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจไม่คุ้มต้องมานั่งกลุ้มในภายหลัง อย่างงานที่ต้องนอนผิดเวลา ไม่มีวันหยุด งานที่ต้องเดินทางมากชีพจรลงเท้า ก็ต้องดูกันเป็นอย่างๆ ไป

เข้าใจทุกท่านนะคะว่าบางทีมันสุดวิสัยจริงๆ แค่เวลากินยังต้องวิ่งรับประทานเลยแล้วจะหาเวลาออกกำลังกายที่ไหนได้ แต่ถ้าลองใหม่นะคะ ลองคิดว่าให้งานเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วยจะพอช่วยได้ไหม

ได้ทั้งงานและสำราญสุขภาพ ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้องอีกต่อไป งานได้ผลเลิศ เจ้านายปลื้ม ลูกน้องรัก สุขภาพไม่พังเร็ว อย่างนี้วินวินกันทั้งสองฝ่าย

วันนี้เลยอยากฝากเคล็ดวิธีการเลือกชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะกับประเภทของงานที่ทำไว้ โดยใช้เนื้องานเป็นตัวกำหนด

อาชีพในทุกวันนี้มีหลากหลายมากค่ะ น้องๆ คนรุ่นใหม่มีไฟในการทำงานกันทั้งนั้น แต่ใช่ว่าพี่ผู้อาวุโสจะหมดไฟนะคะ ยังมีไฟอยู่แน่นอนและอาจมีพลังได้เหมือนกับสมัยเมื่อเข้างานใหม่ๆ เสียด้วยถ้าใช้หลักอายุรวัฒน์ช่วย

อาจารย์กฤษดา ศิรามพุช แห่งคอลัมน์กายคิดจิตกำหนดเคยบรรยายให้ผู้บริหารฟังเกี่ยวกับหลักนี้โดยละเอียดไปแล้วถึงเทคนิค “ชาร์จแบต” เก็บประจุพลังใหม่ให้เหมือนกับวันแรกของการทำงานได้ ในวันนี้ดิฉันจะพูดในแง่ของการเลือกชนิดของการออกกำลังกาย (Mode of exercise) ให้เหมาะกับตัวเองตามประเภทงานดังนี้

1) งานนั่งโต๊ะ องค์การอนามัยโลกประกาศว่าสาเหตุโรคภัยไข้เจ็บประการหนึ่งของมนุษย์ยุคใหม่ก็คือการนั่งทำงาน การที่ไม่ได้ขยับตัวเป็นส่วนใหญ่ทำให้มีไขมันสะสมอยู่ที่พุงและกล้ามเนื้อก็หดหายไปค่ะ แล้วอีกไม่นานสารพัดโรคก็มา รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะในกรณีนี้คือ “สลับช่วง” (Interval training) เช่น วิ่งขึ้นลงบันไดออฟฟิศเร็วช้าสลับกันครั้งละ 2นาที หรือจะใช้การออกกำลังง่ายๆ อย่างยกขาขึ้นลงขณะนั่งเก้าอี้ก็ได้

2) งานใช้สมอง งานนโยบาย วางแผน งานบริหารและงานเครียดๆ ทั้งหลาย การออกกำลังกายที่เหมาะคือ “ล้างพิษ” ให้สมอง การออกกำลังหนักในขณะที่ร่างกายเหนื่อยล้าเต็มพิกัดอยู่แล้วจะยิ่งทำให้สมองเครียดหนักขึ้น การออกกำลังกายที่เหมาะคือได้ฝึกสมองไปด้วยค่ะ ได้แก่ แกว่งแขนข้างโต๊ะทำงาน ใช้มือข้างไม่ถนัดหัดวาดภาพ เขียนหนังสือช่วยฝึกสมอง อย่างนี้จะเหมาะกับงานที่ใช้หัวเป็นหลักค่ะ

3) งานนอนดึก งานที่ต้องอดตาหลับขับตานอน งานประเภทตื่นก่อนนอนทีหลังหรือผู้บริหารที่มีงานสังคมอยู่ดึก เหมาะกับการออกกำลังกายที่ไม่ออกแรงเยอะมากจนเกินไป อย่างยกน้ำหนักหรือซิทอัพแบบที่ต้องออกแรงภายในเยอะขอให้เลี่ยงค่ะ เลือกออกกำลังด้วยการเล่นกีฬาเป็นคู่ เช่น แบดมินตัน สควอช เทนนิสหรือจะเป็นกีฬาเดี่ยวอย่างว่ายน้ำก็ยังได้ มีข้อแม้ว่าวันไหนเหนื่อยมากแล้วก็เว้นไปได้ค่ะ

4) งานออกแรงที่ต้องใช้แรงเยอะ เช่น นักกีฬา ยกของ เดินตรวจตรา ฯลฯ งานที่ว่าแม้มีการใช้แรงมากหากแต่ก็เป็นไปด้วยเรื่องของหน้าที่ จึงมิอาจให้ความสุขได้เท่าการออกกำลังกายตามใจปรารถนา ผู้ที่ออกแรงอยู่แล้วจึงไม่ควรพอใจว่าได้ออกแรงอยู่ดูน่าจะแข็งแรง ทั้งที่จริงแล้วไม่เสมอไปนะคะ วิถีขยับกายที่เหมาะก็คือการ “พักให้เป็น” ให้เข้านอนเร็วและตื่นมาออกกำลังตามใจตัวเองบ้าง เช่น ตีกอล์ฟ โยคะหรือว่าจะลีลาศก็ยังได้ค่ะ เป็นโหมดที่เหมาะกับผู้ใช้แรงอยู่เสมอ

ที่กล่าวมาเป็นเพียงหลักใหญ่ๆ นะคะ เพราะเรื่องของชนิดงานกับชนิดการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่มาจับคู่กันได้เสมอ ขอแค่เรารู้หลักใหญ่ๆ ในการจับคู่เอาไว้ เช่น ถ้าทำงานที่ต้องใช้เสียงอย่าง ครู อาจารย์หรือนักร้องนักแสดง ก็จัดตัวเองให้เข้ากับงานประเภทใช้สมองและออกแรงไปด้วยกันค่ะ รูปแบบการออกกำลังก็ต้องคละกันไป อย่างนี้เป็นต้น


ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจโดย ดร.กรุณา นนทรักส์ 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์