นานาสิ่งแปลกปลอมทำร้ายประสาทสัมผัส

นานาสิ่งแปลกปลอมทำร้ายประสาทสัมผัส


ตา หู คอ จมูก และปาก ถือเป็นอวัยวะที่ต่างมีหน้าที่สำคัญช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นปกติ ทั้งในเรื่องของการมองเห็น การได้ยิน การเปล่งเสียง การพูด การลิ้มรส การดมกลิ่น และการหายใจ หากมนุษย์ต้องสูญเสียส่วนหนึ่งส่วนใดไปก็อาจเกิดผลเสียต่อระบบโดยรวม เราลองมาดูกันสิว่า มีสิ่งใดในยุคสมัยนี้ที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อประสาทสัมผัสของเราบ้าง

 “บิ๊ก อายส์” อันตรายใกล้ดวงตา

 


เมื่อสาวหมวย สาวตาตี่ สาวตาเล็กทั้งหลายมีความใฝ่ฝันอยากมีดวงตาดำ กลมโต บางคนที่ตาโตอยู่แล้วก็อยากตาโตขึ้นไปอีก... บิ๊กอายส์หรือคอนแทคเลนส์ตาโต คอนแทคเลนส์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเกาหลี จึงเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญสำหรับคนที่อยากมีดวงตาที่ดำ กลมโต หรือที่เรียกกันว่าเป็นพฤติกรรม “แอ๊บแบ๊ว”

บิ๊กอายส์ หรือ คอนแทคเลนส์ตาโต จะช่วยทำให้ตาดูโตมากกว่าปกติ ด้วยการทำให้บริเวณผิวของคอนแทคเลนส์มีลักษณะคล้ายม่านตาที่ใหญ่กว่ากระจกตาดำจริง มีทั้งแบบรายเดือนและรายปี และมีหลายขนาดให้เลือก ปัญหาดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้น หากผู้บริโภคเลือกซื้อบิ๊กอายส์ที่มีใบรับประกันจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรู้จักวิธีการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง แต่ทว่าในปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้าหัวใสเป็นจำนวนมากได้ลักลอบนำบิ๊กอายส์ที่ไม่มีคุณภาพ
หรือไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า และสามารถหาซื้อได้ทั่วไป รวมทั้ง ผู้บริโภคบางส่วนไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดบิ๊กอายส์อย่างถูกวิธี จึงเกิดผลเสียต่อดวงตาตามมาในที่สุด

การใส่คอนแทคเลนส์ตาโตและคอนแทคเลนส์ทั่วไปที่ไม่ได้คุณภาพหรือดูแลรักษาผิดวิธี อาจก่อให้เกิดผลเสียดังนี้

 การไม่ล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์หรือล้างผิดวิธี จะทำให้คอนแทคเลนส์กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเมื่อเชื้อโรคสัมผัสที่กระจกตาอาจเป็นสาเหตุของโรคกระจกตาเปื่อยและอาจตาบอดได้ในชั่วข้ามคืน
 บางรายใส่ผิดวิธีและอาจเกิดบาดแผลที่ดวงตาจนตาอักเสบ ทำให้มีแผล มีฝ้าขาวที่กระจกตา การมอง
เห็นลดลง และอาจตาบอดได้ในที่สุด

พรุ่งนี้เช้าก่อนออกจากบ้าน...หากคุณเป็นอีกคนที่ต้องใส่บิ๊กอายส์หรือคอนแทคเลนส์อย่าลืมดูแลรักษาความสะอาดเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับดวงตา และถ้าจะเลือกซื้อบิ๊กอายส์หรือคอนแทคเลนส์ครั้งต่อไปก็อย่าลืมเลือกสินค้าที่วางใจและมีการรับประกันคุณภาพด้วยนะคะ

 กระซิบเบาๆ เป็นอันตรายต่อเส้นเสียง



ใครคิดว่า การตะโกนหรือกรี๊ดเสียงดังเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อเส้นเสียง การกระซิบเบาๆ ก็เป็นอันตราย เช่นกัน จากการวิจัยของ ดร. Robert T. Sataloff และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Drexel ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบต่อเส้นเสียงระหว่างการพูดแบบธรรมดาและการพูดแบบกระซิบ โดยการให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน นับเลข 1 - 10 และเปรียบเทียบโดยการดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นเสียงผ่านกล้องเส้นใยนำแสง (fiber-optic scope)


ผลการวิจัยในครั้งนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 69 คน จะต้องเค้นเส้นเสียงในขณะที่พูดแบบกระซิบ ส่งผลให้เส้นเสียงเกิดความตึงเครียดและเกิดอาการปวดเส้นเสียงในบางราย ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือนั้นไม่มีลักษณะอาการดังกล่าว ในขณะที่บางรายเส้นเสียงที่พูดแบบกระซิบมีการผ่อนคลายมากกว่าการพูดแบบธรรมดา
รู้แบบนี้แล้ว...ไม่ใช่แค่หลีกเลี่ยงตะโกนหรือกรี๊ดเสียงดังเท่านั้น หากไม่จำเป็นต้องมีความลับ ก็ลดการกระซิบลงนะคะ เพื่อให้เส้นเสียงใสๆ อยู่คู่กับเราไปนานเท่านาน

 คอตตอนบัด... ต้นตอขี้หูอุดตัน



คุณใช่ไหม...ที่เคยชินกับการเอาคอตตอนบัด (Cotton Bud) แคะหูทุกครั้งหลังอาบน้ำ
รู้หรือไม่ ? พฤติกรรมดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น การใช้คอตตอนบัดเช็ดหรือแคะหูจะทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานหนักและผลิตขี้หูเพิ่มมากกว่าปกติ และเมื่อเรายิ่งใช้คอตตอนบัดแคะเพื่อเช็ดขี้หูออกมานั้นก็ยิ่งเป็นการดันขี้หูให้อัดแน่น และอาจเกิดอาการหูตันได้
ในที่สุด
วิธีการสังเกตง่ายๆ เมื่อเกิดอาการขี้หูตัน คือ ความสามารถในการได้ยินลดลง หูอื้อ หรือแม้แต่เสียงพูดของตัวเองก็ได้ยินไม่ค่อยชัด ต้องพูดดังขึ้น หรือลองสอบถามจากคนรอบข้างได้ว่า เสียงพูดของเราดังขึ้นกว่าปกติหรือไม่ หากรู้สึกผิดปกติดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหูและการได้ยินทันที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการ ซึ่งแพทย์จะใช้ที่ส่องหูเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว
แนวทางการรักษาของแพทย์ในกรณีที่พบว่ามีอาการขี้หูตัน แพทย์จะล้างช่องหูชั้นนอก และทำการคีบ ดูด หรือแคะขี้หูออก หากขี้หูอัดแน่นและนำออกยากมาก แพทย์จะให้ยาละลายขี้หูกลับไปยอดที่บ้าน ซึ่งยาละลายขี้หูอาจไม่เห็นผลในทันที โดยในช่วงแรกอาจจะรู้สึกหูอื้อมากยิ่งขึ้น ผู้มีอาการควรหยอดบ่อยๆ วันละประมาณ 7 - 8 ครั้ง หรือปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการเปลี่ยนแปลงปริมาณการหยอดยา หากทำถูกต้องตามที่แพทย์สั่งก็จะทำให้ขี้อ่อนนิ่มลงและสามารถนำออกได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้งเพื่อทำการนำขี้หูออก อาบน้ำครั้งต่อไป อย่าลืมหาสำลีอุดหูหรือหมวกคลุมผมคลุมเลยลงมาถึงใบหูเพื่อป้องกันน้ำเข้า และไม่ควรแคะหูบ่อย ๆ หากมีความจำเป็นต้องแคะก็ควรเช็ดเพียงรอบ ๆ เบา ๆ และไม่ควรทำบ่อย เพื่อให้ขี้หูได้ทำหน้าที่ของมันโดยไม่ถูกรบกวน

 แคะจมูก เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย



เรื่องสุดท้ายฝากไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับนักแคะแกะจมูกทั้งหลาย ที่ชอบใช้นิ้วมือแคะแกะเข้าไปในโพรงจมูกด้วยเรื่องเล่าที่คาดไม่ถึง เมื่อเด็กคนหนึ่งแคะจมูกจนเกิดอาการติดเชื้อในสมอง
จุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวก็มาจากการที่เด็กคนดังกล่าวชอบแคะจมูกจนติดเป็นนิสัย ทำให้เยื่อโพรงจมูกขาดและเลือดกำเดาไหล แบคทีเรียที่สะสมอยู่ในเล็บมือจำนวนมหาศาลได้เข้าไปในโพรงจมูกผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้น เพาะเชื้อและทำลายเส้นประสาทในสมองจนถึงแก่ความตาย

แม้จะไม่สามารถหาที่มาของเรื่องดังกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เป็นอุทาหรณ์สอนใจนักแคะแกะทั้งหลายได้ดี เพราะในหนึ่งวันเราต้องหยิบจับของสกปรกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบไว้เล็บยาวและใช้เล็บยาวๆ นั้นแคะเข้าไปในโพรงจมูก ความแหลมคมและความสกปรกของเล็บอาจส่งผลเสีย ต่อจมูกของเราอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้



ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์