ข้อควรรู้ แม่ตั้งครรภ์ ขับ-นั่ง รถปลอดภัย

ข้อควรรู้ แม่ตั้งครรภ์ ขับ-นั่ง รถปลอดภัย


ผู้หญิงยุคใหม่ หลังแต่งงานมีชีวิตคู่แล้วใช่ว่าจะเป็นแม่ศรีเรือนอยู่แต่บ้านอย่างเดียว หลายคนยังคงทำงานเช่นเดิม แม้ตอนตั้งครรภ์ก็ไม่หยุดพัก แถมว่าที่คุณแม่บางคนยังขับรถยนต์ด้วยตนเองอีก ข้อสงสัยจึงเกิดขึ้น 

ณ จุดนี้ว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถขับรถยนต์ได้หรือไม่?

เรื่องนี้ ฟอร์ด ประเทศไทย ไขข้อข้องใจโดยจัดเวิร์คชอปวิธีขับรถปลอดภัยสำหรับคุณแม่และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ พร้อมทั้งเชิญแพทย์หญิงยุรี ยานาเซะ แพทย์ปฏิบัติการกลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี มาให้คำแนะนำที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว

หมอยุรีบอกว่า ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่มักจะแพ้ท้อง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนและเวียนศีรษะ อาการจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ว่าเพิ่มสูงแค่ไหน กรณีที่แพ้ท้องมาก คุณแม่บางรายอาจมีการใช้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ ซึ่งยานี้มักมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงนอน ดังนั้น ถ้าต้องใช้ยาดังกล่าวต้องไม่ขับรถ

ส่วนช่วงสามเดือนก่อนคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขับรถยนต์ เนื่องจากมดลูกจะขยายขนาดมาก หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น มดลูกมักได้รับความกระทบกระเทือนจากการกระแทกของท้องกับพวงมาลัยรถยนต์ แถมยังอาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนด เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และคลอดก่อนกำหนด เหล่านี้ถือเป็นภาวะอันตรายอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อผ่านอุบัติเหตุ แม้คุณแม่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจความปลอดภัย เพราะอาการผิดปกติมักไม่ปรากฏทันทีที่เกิดเหตุ    

สำหรับการคาดเข็มขัดนิรภัยของคุณแม่ตั้งครรภ์ยังต้องทำเพื่อความปลอดภัยขณะอยู่ในพาหนะ แต่ห้ามคาดทับท้องหรืออยู่บนท้อง การใช้งานที่เหมาะสมคือ เส้นบนควรพาดผ่านไหล่ ไหปลาร้า กลางอก และด้านข้างท้อง ขณะที่เส้นล่างให้คาดไว้ใต้แนวส่วนโค้งของท้องที่ขยายขนาดขึ้น และอยู่เหนือแนวกระดูกสะโพกทั้งสองด้าน

ปัจจุบันมีการคิดค้นอุปกรณ์เสริมเพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ใช้กับเข็มขัดนิรภัยของรถ อย่างเช่น บั้มพ์ เบลท์ เป็นตัวช่วยยึดไม่ให้เข็มขัดทั้งสองเส้นหลักพาดทับท้อง หรืออาจเป็นแบบเส้นไขว้หรือทแยงกันบริเวณหน้าอก ไม่เลื่อนต่ำลงมาถึงท้อง

เรื่องท่านั่งที่ถูกต้อง เมื่อคุณแม่เป็นคนขับ แนะนำให้ปรับที่นั่งให้ห่างจากพวงมาลัยมากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจับหรือบังคับพวงมาลัย และต้องสามารถเหยียบคันเร่งและเบรกได้อย่างไม่ลำบาก ส่วนพนักเก้าอี้ควรปรับแล้วช่วงหน้าอกห่างจากพวงมาลัยราว 10 นิ้ว

หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นผู้โดยสาร ตำแหน่งที่นั่งที่ปลอดภัยคือนั่งด้านหลัง ทว่าจำเป็นต้องนั่งด้านหน้า อย่าลืมเลื่อนที่นั่งไปด้านหลังให้ห่างคอนโซลรถมากที่สุด เพื่อป้องกันส่วนท้องกรณีเกิดอุบัติเหตุแล้วถุงลมนิรภัยทำงาน

หมอยุรี บอกอีกว่า ช่วงสามเดือนใกล้คลอด นอกจากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขับรถเองแล้ว ยังไม่ควรเดินทางเพียงลำพังด้วย  เพราะอาจมีปัญหาน้ำเดินหรือปวดท้องจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อ ทั้งยังควรเตรียมสำเนาระเบียนฝากครรภ์ติดตัวไว้ เผื่อเจ็บท้องคลอดแล้วอาจต้องเข้าโรงพยาบาลใกล้เคียงซึ่งไม่ทราบประวัติฝากครรภ์ และควรพกโทรศัพท์มือถือติดตัวเพื่อการขอความช่วยเหลือ

เรื่องราวดีๆ ยังไม่หมดแค่นี้ สัปดาห์หน้าตามอ่านต่อเกี่ยวกับการนั่งรถที่ปลอดภัยของเด็กๆ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์