อโศก ต้นไม้ในพุทธประวัติสัญลักษณ์ของความรัก

อโศก ต้นไม้ในพุทธประวัติสัญลักษณ์ของความรัก

กล่าวกันว่าต้นอโศกเป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยงามราวกับสถูป ในอินเดียถือว่า ‘อโศก’ เป็นสัญลักษณ์ของความรัก และมักใช้ดอกอโศกถวายพระกามเทพ

และในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติเรื่อง “กามนิต” โดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป นั้น ต้นอโศกได้เข้ามาเกี่ยวพันกับความรักของกามนิต เพราะบริเวณที่กามนิตได้พบกับวาสิฏฐีทุกค่ำคืน ก็คือลานอโศกนั่นเอง ดังที่กามนิตได้พรรณนาถึงเรื่องราวบนลานอโศกไว้ว่า

“ข้าพเจ้ากับโสมทัตต์ได้ไปหาคู่รักทุกคืน ยิ่งคืนข้าพเจ้ากับวาสิฏฐีผู้ประสบขุมทรัพย์ใหม่ๆ อันเกิดต่อความร่วมรักของเรา ยิ่งทวีความที่อยากพบกันมากขึ้นทุกที ดวงจันทร์ฉายแสงดูยิ่งสว่าง หินอ่อนรู้สึกว่ายิ่งเย็นชื่นใจ กลิ่นดอกมะลิซ้อนหอมเย็นยิ่งขึ้น เสียงนกโกกิลายิ่งโหยหวน เสียงลมพัดถูกกิ่งปาล์ม ทำให้วังเวงมากขึ้น ตลอดจนกิ่งอโศกที่แกว่งไกวก็มีเสียงดูดั่งจะกระซิบกระซาบกัน สิ่งเหล่านี้เห็นจะไม่มีเหมือนแล้วตลอดโลก !

เฮ้อ ! ถึงเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังระลึกและจำต้นอโศกเหล่านั้นได้แม่นยำ ว่ามีอยู่เรียงกันเป็นแถวตลอดไปตามยาวของลานนั้น และใต้ต้นอโศกเหล่านี้ เราทั้งสองเคยประคองพากันเดินเล่น จนเราให้สมญาลานนั้นว่า “ลานอโศก” เพราะต้นไม้ชนิดนั้นกวีให้ชื่อว่า “อโศก” หรือบางทีเรียกว่า “สุขหฤทัย” ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นต้นอโศกที่ไหน ใหญ่โตงามเหมือนกับที่มีอยู่บนลานนั้น ใบซึ่งคอยสั่นไหวอยู่เสมอ เห็นเป็นเลื่อมพรายเงินเมื่อต้องแสงจันทร์ เมื่อลมโชยมาก็มีเสียงปานว่า หนุ่มสาวกระซิบกัน เวลานั้นแม้จะย่างเข้าสู่วสันตฤดู คงยังแตกดอกออกช่อเป็นสีแดงบ้างเหลืองบ้าง แก่อ่อนสลับกันไป”

อโศก เป็นชื่อต้นไม้หลายชนิดในสกุล Saraca วงศ์ Leguminosae เช่น อโศกน้ำ อโศกเหลือง เป็นต้น มีชื่อเรียกสามัญว่า Asoka Tree มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงราว 10-20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดกลม ใบเป็นมันดกทึบ ใบรูปหอก ยาวประมาณ 10-15 ซม. ปลายใบแหลม ก้านใบสั้นติดกิ่ง

ดอกจะออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง เริ่มแรกดอกจะมีสีเหลือง และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแสดหรือสีส้ม จนกระทั่งเป็นสีแดง ตามอายุของดอก ดังนั้นบางครั้งในแต่ละช่วงจะเห็นสีทั้งสามแซมสลับกันอย่างสวยงาม มีกลีบรองดอกยาวเหมือนดอกเข็ม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และจะออกดอกในราวเดือนมกราคม-เมษายน ส่วนฝักมีลักษณะแบนยาว มีช่อละ 1-2 ฝัก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลและแตกออก แต่ละฝักมีเมล็ด 2-3 เมล็ด

ประโยชน์ของอโศกทางด้านพืชสมุนไพรนั้น เช่น ที่อินเดียได้นำเปลือกมาสกัดเป็นยา ใช้รักษาอาการเลือดลมผิดปกติในผู้หญิง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ โรคระดูขาว โรคเลือดออกในมดลูก และโรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น

‘อโศก’ ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ชื่อของต้นไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียนั่นก็คือ ‘พระเจ้าอโศกมหาราช’ กษัตริย์นักรบนักรักผู้ยุติการทำสงคราม และหันมาใฝ่พระทัยในพุทธศาสนา ทรงใช้ธรรมะปกครองบ้านเมือง และทรงอุปถัมภ์บำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีป และแผ่กว้างไกลออกไปในต่างแดน


ขอบคุณ dhammajak.net

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์