นมนี้เธอได้แต่ใดมา?

นมนี้เธอได้แต่ใดมา?


 ปีนี้ครบรอบ 50 ปีพอดีสำหรับการเสริมนมด้วยซิลิโคนในปี ค.ศ. 2010 มีผู้หญิงเข้ารับการผ่าตัดทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน

 นั่นทำให้มันเป็นการผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองของโลก รองจากการดูดไขมัน

      ย้อนกลับไปในฤดูใบไม้โรยของปี ค.ศ. 1962 ทิมมี่ จีน ลินด์ซีย์คุณแม่ลูกหก นอนอยู่บนเตียงผ่าตัดที่โรงพยาบาลเจฟเฟอร์สันเดวิส ในเมืองฮิวสตั้น รัฐเท็กซัส สองชั่วโมงต่อมา เธอขยับขึ้นจากคัพ B สู่ C
      “ฉันคิดว่ามันออกมาสวยดี...มันนิ่มและความรู้สึกเหมือนหน้าอกจริง ๆ” ลินซีย์ผู้บัดนี้อายุกว่าแปดสิบปีกล่าว “ฉันคิดว่าฉันเพิ่งมาเห็นผลของมันเต็มที่ก็เมื่อพวกผู้ชายข้างทางเขาผิวปากใส่นั่นแหละ”
      ถึงแม้การผ่าตัดจะทำให้เธอ ‘มั่น’ ขึ้น ซึ่งเธอก็รู้สึกอิ่มเอิบกับความสนใจเหล่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า เธอไม่เคยมีแผนที่จะทำให้หน้าอกของเธอใหญ่ขึ้นเลย ความจริงเธอไปโรงพยาบาลเพื่อกำจัดรอยสักบนหน้าอกแท้ๆ เชียว--คงคล้ายๆ กับการเข้าเซเว่นฯ เพื่อซื้อหมากฝรั่งแล้วพนักงานหลังเคาน์เตอร์ถามคุณว่า “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มไหมคะ” นั่นแหละ--วันนั้น ตาหมอสองคนถามเธอในลีลาที่น่าจะคล้ายๆ กันว่า เธออยากจะอาสาเป็นคนไข้รายแรกสำหรับการผ่าตัดที่ไม่เคยมีใครเขาทำกันมาก่อนหรือไม่
      “ฉันน่ะกังวลเรื่องจะเก็บหูยังไงมากกว่า คือหูของฉันมันกางเหมือนช้างดัมโบ้! พวกเขาก็บอกว่า ‘เอาสิ เก็บหูด้วยก็ได้’”
      เท่านั้นเองการผ่าตัดอันสร้างประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้น
      ศัลยแพทย์ผู้เสนอ‘ซาลาเปา’ให้เธอคือ แฟรงค์ จีโรว์และธอมัส โครนิน จีโรว์เป็นคนคิดถึงการผ่าตัดเสริมทรวงอกแบบใหม่นี้ขึ้นก่อน “แฟรงค์ จีโรว์บีบถุงพลาสติกใส่เลือดแล้วกล่าวในทำนองที่ว่า มันให้ความรู้สึกเหมือนอกผู้หญิง” เทริซ่า ริออร์แดนเล่าเธอคือผู้เขียนหนังสือ Inventing Beauty: A History of the Innovations that have Made Us Beautiful “แล้วพลันนั้นเอง เขาก็สัมผัสได้ถึงวินาทีแห่งการบรรลุธรรมอันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำซิลิโคนเข้ามาใช้ในการเสริมทรง”
      แต่หนูทดลองสำหรับการเสริมทรงด้วยซิลิโคน กลับไม่ใช่หนูทว่าเป็นหมาชื่อ Esmeralda (แปลเป็นไทยว่า มรกต เชื่อว่าชื่อนี้ได้มาหลังจากเสริมนมแล้ว ก่อนหน้านี้น่าจะชื่อนังเขียว) ส่วนคนดูแลน้องมรกตอย่างใกล้ชิดคือ ธอมัส บิ๊กก์ส ศัลยแพทย์พลาสติกรุ่นน้องผู้ทำงานร่วมกับจีโรว์และโครนินในปี ค.ศ. 1962
      “ผมมีหน้าที่ดูแลหมา ก้อนซิลิโคนถูกสอดเข้าใต้ผิวหนังแล้วปล่อยทิ้งไว้สองสามอาทิตย์จนกระทั่งหมาเริ่มแทะไหม เราจึงผ่าเอามันออก” (แต่ชื่อมรกตอยู่กับนังเขียวเป็นการถาวร) อย่างไรก็ตามการผ่าตัดถือว่าประสบความสำเร็จ จีโรว์ประกาศว่า ถุงซิลิโคนนั้น“ปลอดภัยพอๆ กับน้ำเปล่า” ไม่นานต่อมา ทีมแพทย์ก็เริ่มมองหาผู้หญิงมาลองทำการผ่าตัด นั่นจึงทำให้ ทิมมี่ จีน ลินด์ซีย์

      “ตอนที่ฉันออกมาจากห้องผ่าตัด ฉันรู้สึกว่ามันมีน้ำหนักมากมายอยู่บนหน้าอกของฉัน เหมือนมีใครเอาของหนักๆ มาวางเอาไว้ แต่แล้วก็แค่นั้นเอง--สามสี่วันต่อมาก็หายเจ็บ”
      เหล่าแพทย์รู้สึกพอใจกับผลงานของตน แต่ขณะนั้น บิ๊กก์สยังไม่รู้หรอกว่าเขามีอะไรอยู่ในมือ “แน่นอนว่ามันทำให้ตื่นเต้นบ้างแต่ตอนนั้นผมยังไม่ฉลาดพอที่จะตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของมันถ้าผมรู้ว่ามันจะใหญ่โตขนาดนี้ในอนาคต ผมคงอึ้ง”
      ความสำคัญของมันเริ่มเปิดเผยตัวตนขึ้นเมื่อโครนินนำเสนอผลงานให้ International Society of Plastic Surgeons ที่วอชิงตัน ดีซี ในปี ค.ศ. 1963 “แวดวงของศัลยกรรมตกแต่งลุกเป็นไฟด้วยความตื่นเต้น” บิ๊กก์สกล่าว
      มันดูจะเป็นเวลาที่เหมาะเจาะ ในช่วงทศวรรษที่ 50 อเมริกาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาจาก ‘นมใหญ่’ ในทศวรรษนี้เองที่นิตยสารเพลย์บอยออกวางตลาด บาร์บี้แจ้งเกิด และดาราภาพยนตร์ก็มีบทบาทที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน
      กลับมาที่ทิมมี่ จีน ลินด์ซีย์ซึ่งวันนี้อายุปาเข้าไปแปดสิบ และมีซิลิโคนอยู่ในร่างกายของเธอมาเป็นเวลา 50 ปี “คุณอาจจะคิดว่ามันยังคงเต่งตึงชูชันอยู่ แต่จริงๆ แล้วมันก็เหมือนนมธรรมชาตินั่นแหละที่เริ่มจะเหี่ยวยานไปตามเวลา ซึ่งข้อนี้ก็ทำให้ฉันประหลาดใจเหมือนกัน เพราะเคยนึกว่ามันจะเต่งตึงอยู่อย่างนั้นตลอดไป” เธอยังคงเป็นสุขกับชิ้นส่วนแห่งประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในร่างกาย “มันไม่เลวหรอกที่พูดได้เต็มปากว่า ฉันมาก่อนใคร”
      เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน, นมมีสองเต้า--กับ 50 ปีของการเฉลิมฉลอง เนื้อข่าวอันอวบตึงดิบดีไปหมดนี้น่าจะมาจากนมเพียงเต้าหนึ่งเท่านั้น บนนมอีกเต้าอาจจะมีเรื่องราวที่สวนทางกันและไม่สดใสเต่งตึงนัก
      สำหรับผู้สนใจการเพิ่มขนาด ขอแนะนำให้ไปศึกษาหาข้อมูลจากนมทั้งสองเต้าให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

 บนหนทางของการตามหานมโต

ฉีด: การลองฉีดพาราฟีนในช่วงทศวรรษที่ 90 (ปี ค.ศ. 1890) แต่แล้วก็ต้องละทิ้งวิธีนี้ไป เพราะมันรั่วสู่ส่วนอื่นของร่างกาย
การปลูกถ่าย: ในช่วงทศวรรษที่ 20 และ 30 แพทย์ทดลองนำไขมันจากส่วนอื่นของร่างกายมาใช้ที่บริเวณหน้าอก
สอดใส่: ในช่วงทศวรรษที่ 50 เคยมีการทดลองสอดใส่สิ่งเหล่านี้เข้าไปแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโพลียูรีเทน กระดูกอ่อน ฟองน้ำ ไม้ หรือแม้แต่ลูกแก้ว
โดยไม่ต้องผ่าตัด : เครื่องปั๊มสุญญากาศ เครื่องดูดน้ำมันนวด และยาหม้อชนิดต่างๆ ชุดชั้นในเสริมฟองน้ำ และแบบปั๊มลม
ที่มา: Inventing Beauty by Teresa Riordan

 ที่ไหนเขาฮิตทำนมกันบ้าง?

วัดจากจำนวนครั้งของการผ่าตัด
1. อเมริกา
2. บราซิล
3. เม็กซิโก
4. อิตาลี
5. จีน
6. โคลอมเบีย
7. อินเดีย
8. ฝรั่งเศส
9. ญี่ปุ่น
10. เยอรมนี

วัดจากจำนวนประชากรที่ผ่าตัด
1. บราซิล
2. กรีซ
3. อิตาลี
4. โคลอมเบีย
5. อเมริกา
6. ฝรั่งเศส
7. เม็กซิโก
8. เวเนซูเอลา
9. ออสเตรเลีย
10. แคนาดา

ที่มา: INTERNATIONAL SOCIETY OF AESTHETIC PLASTIC SURGEONS ปี ค.ศ. 2010


และ :: image.gmember.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์