ที่มาของเล็บขบ

ที่มาของเล็บขบ


เรื่องของอาการปวดบวมที่บริเวณขอบนิ้วโป้งเท้า จนบางครั้งถึงกับมีหนองไหลออกมานั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อย และส่วนใหญ่ที่พาผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก็ไม่พ้นเรื่องของเล็บขบ ขบธรรมดาก็ปวดจะแย่แล้ว กรณีมีอาการติดเชื้อทับซ้อน ยิ่งเพิ่มอาการปวดบวมขึ้นไปอีก นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังคือ การติดเชื้อนี้สามารถลุกลามไปถึงกระดูกได้ อาจถึงขั้นต้องตัดนิ้วเท้ากันทีเดียว โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน

เล็บขบ (Ingrown toenail หรือ Onychocryptosis) เป็นภาวะที่มีอาการปวดบวมของนิ้วเท้า เนื่องมาจากการงอกของเล็บที่ไม่ปกติ โดยขอบเล็บทางด้านข้าง หรือมุมของเล็บ งอกมุดลงไปในเนื้อเท้าแบบผิดที่ผิดทาง แทนที่จะงอกยาวไปข้างหน้าตามปกติ หรืองอกยาวตามร่องเล็บที่มีอยู่ จึงก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น เล็บที่มักเกิดความผิดปกติขึ้นนั้น มักเป็นเล็บนิ้วโป้งเท้า ส่วนเล็บเท้าอื่นก็สามารถพบได้แต่น้อยมาก

ส่วนสาเหตุของเล็บขบนั้นมีมากมาย เช่น การใส่รองเท้าที่คับหรือแน่นเกินไป การตัดเล็บไม่ถูกวิธี การติดเชื้อราที่เล็บทำให้เล็บมีความหนาผิดปกติ หรือแม้กระทั่งการได้รับอุบัติเหตุจนเล็บฉีกขาด สาเหตุเหล่านี้โดยรวมมักทำให้การงอกของเล็บผิดปกติ จึงเกิดอาการเล็บขบขึ้น

สาเหตุหลัก ๆ ที่พบมีอยู่ 2 สาเหตุด้วยกัน คือ การใส่รองเท้าที่คับเกินไป การใส่ส้นสูง หรือ การใส่รองเท้าหัวเล็กหรือหน้าแคบ จนทำให้เกิดการกดทับหรือดันบริเวณนิ้วโป้งเท้า จึงทำให้เล็บที่ยาวออกมานั้นไม่สามารถงอกยาวตามทิศทางที่ปกติ เกิดการมุดตัวลงไปใต้ผิวหนังและเกิดการอักเสบขึ้น อีกสาเหตุหลักคือ การตัดเล็บไม่ถูกวิธี การตัดเล็บเท้าที่ถูกวิธีนั้น ควรจะตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรง ไม่ควรตัดให้โค้งมน และไม่ควรตัดสั้นจนเกินไป

ความรุนแรงของเล็บขบนั้นเป็นได้ตั้งแต่ บริเวณรากเล็บมีอาการบวมแดง ปวดเวลาสัมผัส จนถึงขั้น บวมแดงมากปวดมาก แม้ไม่สัมผัส ถ้ามีอาการมากมักมีหนองไหลออกมาจากบริเวณขอบเล็บ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการอาจเป็นมากขึ้นจนถึงขั้นมีไข้ได้ หากการติดเชื้อรุนแรง การติดเชื้ออาจลงลึกถึงกระดูกได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น ในผู้ป่วยบางท่านอาจมีลักษณะคล้ายเนื้อบริเวณด้านข้างของเล็บหนาตัวขึ้นเป็นก้อน โดยเฉพาะกรณีมีอาการเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการป้องกันและรักษาเล็บขบนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเหนือบ่ากว่าแรงค่ะ

สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดเล็บขบนั้น มีอยู่ 2 ประการหลัก คือ การใส่รองเท้าที่คับและแน่นเกินไป จึงมีการกดทับบริเวณนิ้วโป้งทำให้การงอกของเล็บผิดปกติ ส่วนอีกสาเหตุ คือ การตัดเล็บไม่ถูกวิธีนั่นเอง เช่น การตัดเล็บจนสั้นกุด หรือการพยายามตัดแต่งเล็บให้มีการโค้งเข้าไปในซอกเล็บมากเกินไป หรือการพยายามแคะ ขุด งัดบริเวณซอกเล็บเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนอาการของเล็บขบนั้นก็มีได้ตั้งแต่ มีอาการบวมแดงบริเวณขอบเล็บเล็กน้อย ปวดเวลาสัมผัส จนถึงขั้นบวมแดง ปวดมากแม้ไม่สัมผัส ถ้ามีอาการมากมักมีหนองไหลออกมาจากบริเวณขอบเล็บ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาการอาจเป็นมากขึ้นจนถึงขั้นมีไข้ได้ หากการติดเชื้อรุนแรง การติดเชื้ออาจลงลึกถึงกระดูกได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ในผู้ป่วยบางท่านอาจมีลักษณะคล้ายก้อนเนื้อบริเวณขอบเล็บ ซึ่งเกิดจากการหนาตัวขึ้นของผิวหนังบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีมีอาการเรื้อรัง

การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ถ้าผู้ป่วยเล็บขบที่มีอาการปวดบวมแดงเล็กน้อย โดยยังไม่มีหนองไหลออกมา สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำคือ การแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 4 ครั้งต่อวัน จากนั้นอาจใช้ด้าย หรือไม่จิ้มฟันก้านบางๆ หรือ อาจใช้ไหมขัดฟัน ค่อยๆสอดเข้าไปใต้เล็บ ช่องระหว่างตัวเล็บกับเนื้อผิวหนังใต้เล็บ แน่นอนค่ะว่าต้องมีอาการปวดบ้าง จึงควรค่อยๆทำ และอย่าให้เกิดการฉีกขาดของเล็บหรือผิวหนัง ข้อดีของการทำเช่นนี้ คือจะทำให้เกิดการยกตัวขึ้นของเล็บ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงการเกิดเล็บขบได้ นอกจากนี้ควรใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกบริเวณดังกล่าวประมาณ 2 ครั้งต่อวัน หรือเช้าเย็น

กรณีที่บริเวณนิ้วโป้งมีอาการปวดบวมแดงร้อนมากขึ้น หรือกระทั่งมีหนองไหลออกมาจากขอบเล็บ กรณีนี้ผู้ป่วยควรได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแบบทา หรือแบบรับประทาน กรณีอาการแย่ลง คือผู้ป่วยมีอาการปวดบวมแดงมาก มีหนองไหลมาก มีไข้ หรือมีก้อนเนื้อบริเวณข้างเล็บหนาตัวขึ้น แพทย์อาจต้องทำการถอดเล็บบริเวณที่ขบ และตัดก้อนเนื้อที่มีการหนาตัวขึ้นเพื่อการรักษา โดยผู้ป่วยต้องทำการพันแผล และทายาฆ่าเชื้อจนแผลหายสนิท ซึ่งมักใช้เป็นเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น

การป้องกันนั้นก็ทำได้ไม่ยาก ด้วยการสวมใส่รองเท้าที่ไม่คับและแน่นจนเกินไป พยายามรักษาเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และที่สำคัญควรตัดเล็บให้ถูกวิธี โดยไม่ควรตัดเล็บให้สั้นหรือโค้งมนจนเกินไป ควรตัดเล็บในลักษณะเป็นแนวตรง ไม่ควรแคะขุดหรืองัดบริเวณขอบเล็บเพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบได้ค่ะ และถ้าเริ่มมีอาการก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบทำการดูแลและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ









ขอขอบคุณข้อมูลจาก  พญ.อนงค์ลักษณ์ รัตนศิริวิไล


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์