สำรวจประเทศที่ไม่มี โค้ก วางจำหน่าย​

สำรวจประเทศที่ไม่มี โค้ก วางจำหน่าย​



บริษัทโคคา-โคล่า เพิ่งกลับมาบุกตลาดเมียนมาร์อีกครั้งหลังจากยุติการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมในเมียนมาร์ไปเกือบ 60 ปี ไปสำรวจว่าประเทศใดในปัจจุบันที่ไม่มีเครื่องดื่มโค้กวางจำหน่ายบ้าง


เป็นเวลาเกือบ 60 ปีที่โคคา-โคล่าหยุดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมในประเทศเมียนมาร์และเพิ่งกลับมาบุกตลาดเมียนมาร์อีกครั้งในปีนี้ ซึ่งข่าวนี้อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า ในประเทศใดบ้างที่ยังไม่มีสินค้าแบรนด์ดังอย่างโค้กวางจำหน่าย

สำหรับกรณีของเมียนมาร์ที่โค้กหยุดวางจำหน่ายไปในช่วงปี 2505 จนถึงปี 2554 นั้นเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการค้ากับเมียนมาร์ในช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศ แต่กำลังจะกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง โดยสินค้าล็อตแรกเพิ่งส่งมาถึงเมียนมาร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และกำลังจะเริ่มดำเนินการผลิตในประเทศเมียนมาร์ในเร็วๆ นี้

ในปัจจุบัน มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ของโคคา-โคล่าวางจำหน่าย คือ เกาหลีเหนือและคิวบา ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางการค้ามาเป็นเวลานาน 50-60 ปี

สำหรับคิวบา แม้ว่าจะเป็น 1 ใน 4 ประเทศแรกที่จำหน่ายเครื่องดื่มโค้กบรรจุขวด ในปี 2449 แต่โคคา-โคล่าปิดบริษัทในคิวบาลงเมื่อนายฟิเดล คาสโตรขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ พร้อมกับประกาศใช้นโยบายยึดทรัพย์สินเอกชนเข้าเป็นของรัฐ และไม่เคยกลับไปยังคิวบาอีกเลย

ส่วนในเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า มีเครื่องดื่มโค้กวางจำหน่ายที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในกรุงเปียงยาง แต่ทางโคคา-โคล่ายืนยันว่า ถ้ามีเครื่องดื่มของทางบริษัทวางจำหน่ายในเกาหลีเหนือหรือคิวบา สินค้าเหล่านั้นถูกซื้อขายผ่านตลาดมืดหรือไม่ใช่สินค้าที่บริษัทวางจำหน่ายโดยตรง

ขณะที่นายมาห์มูด อะห์มาดิเนจาด ประธานาธิบดีอิหร่าน เคยขู่ว่าจะสั่งห้ามการวางจำหน่ายโค้กในประเทศ เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรประกาศใช้กับอิหร่าน ส่วนนายฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาก็เพิ่งออกมาเรียกร้องให้ประชาชนหันไปดื่มน้ำผลไม้ที่ผลิตในประเทศ แทนน้ำอัดลมอย่างโค้กหรือเป๊ปซี่

แม้ว่าในปัจจุบัน โคคา-โคล่าจะมียอดจำหน่ายน้ำอัดลมสูงถึง 1,800 ล้านขวดต่อวัน แต่การที่โคคา-โคล่าไม่ได้วางจำหน่ายสินค้าในทุกประเทศ นอกจากจะเป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางบริษัทแล้ว ยังเป็นมรดกมาจากสมัยสงครามเย็นอีกด้วย เนื่องจากโคคา-โคล่าเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น จึงถูกกีดกันในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดไป ประเทศคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่างๆ ได้เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมด้านเศรษฐกิจ และโคคา-โคล่าก็ค่อยๆ บุกตลาดประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย จนมีผู้ยกย่องว่า การดื่มโค้กถือเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ชาวเยอรมันในฝั่งตะวันออกได้รับหลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 2532


ที่มา
http://news.voicetv.co.th/


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์