“กินผัก”อย่างไรให้ปลอดภัยจาก“ยาฆ่าแมลง”

“กินผัก”อย่างไรให้ปลอดภัยจาก“ยาฆ่าแมลง”


สวัสดีวันศุกร์ในฤดูฝนกันนะคะ สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปแอ่วบนดอยชื่อ “ม่อนแจ่ม” จ.เชียงใหม่ ที่นี่มีคนบอกว่า หน้าฝนบนดอยที่ม่อนแจ่มมีทะเลหมอกสวย นอกจากวิวสวยแล้ว ยังมีโครงการหลวงหนองหอย โครงการในพระราชดำริของในหลวง เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขาปลูกผักผลไม้ขาย ภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” ให้เลือกรับประทานกัน

วิวแปลงผักที่นี่สวยสบายตามากค่ะ ดอยทั้งดอยถูกเนรมิตเป็นแปลงปลูกผัก มองไปจะมีสีเขียวอ่อนไปจนเขียวเข้มของผักถูกสลับไล่ระดับกันไปมา เห็นแล้วอดไม่ได้ที่ต้องหาเมนูสลัดผักสดๆชามใหญ่ๆกับน้ำสลัดฟักทองมาทาน


เมื่อพูดถึงเรื่องผัก พลันนึกถึงประสบการณ์ที่เคยตรวจฟาร์มตรวจโรงงานผักผลไม้ให้หลายแห่งที่ส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้ได้ทราบว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, อเมริกา ออสเตรเลียหรือแม้แต่ประเทศเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น เขามีกฏหมายควบคุมปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลงตกค้างสำหรับผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูปที่จะนำเข้าไปยังประเทศดังกล่าว แต่ส่วนที่ปลูกเพื่อขายภายในประเทศเราเองกลับไม่มีอะไรควบคุมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเลย


อย่างที่ทราบกันว่า การปลูกผักในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชมากมายเหลือเกิน ยกเว้นพวกผักออแกนิคที่ใช้ต้นทุนสูงมากในการเพาะปลูก ทำให้มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างในผักและมีโอกาสสะสมจนเกิดผลเสียต่างๆ กับร่างกาย


เคยมีการสุ่มตรวจพืชผักที่ขายในตลาดบ้านเราพบว่า พืชผักที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด ล้วนแต่เป็นของสามัญประจำมื้อ จำพวกพริกขี้หนู ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ-มะเขือเปราะ ผักชี กะหล่ำปลีและแตงกวา


“กินผัก”อย่างไรให้ปลอดภัยจาก“ยาฆ่าแมลง”

สาระคอลัมน์ “กินดี” กับเดลินิวส์ออนไลน์วันนี้ จึงอยากนำเสนอวิธีกินผักให้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงค่ะ


เริ่มจากผักออแกนิคหรือผักที่มีสัญลักษณ์ Q Mark สีเขียวๆ อยู่บนถุงน่ะค่ะ เคยเห็นกันไหมคะ จัดเป็นผักที่ค่อนข้างปลอดภัยตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร ผักชนิดนี้ต้องปลูกตามระบบที่เรียกกันว่า แก่บ (GAP : Good Agricultural Practice) โดยควบคุมการใช้สารเคมีตามรายการที่อนุญาตให้ใช้เท่านั้น อีกทั้งกำหนดให้เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ปลอดภัย แต่ข้อจำกัด คือ ราคาสูงกว่าผักทั่วไปมากกว่าเท่าตัว แถมยังหาซื้อยาก เพราะมักมีขายเฉพาะในห้างสรรพสินค้า


ดังนั้นหากยังจำเป็นต้องซื้อผักจากตลาดสดทั่วไป วิธีที่ช่วยได้มาก คือ การล้างก่อนการบริโภค ย้ำว่าสำคัญมากจริงๆ นะคะ ซึ่งวิธีการล้างผักให้สะอาด ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงตกค้าง มีคำแนะนำดังนี้คะ


1.ล้างด้วยน้ำยาล้างผัก จะช่วยลดสารพิษได้ประมาณ ร้อยละ 25


2.ล้างผัก ผลไม้ แล้วแช่ในด่างทับทิมสีชมพูอ่อนๆ นาน15 นาที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 40


3.ล้างผัก ผลไม้ โดยเปิดก๊อกน้ำไหลผ่านตลอดเวลา พร้อมทั้งถูผักผลไม้ 3-5 นาที ลดสารพิษได้ ร้อยละ 60


4.ล้างผัก ผลไม้ แล้วแช่ในน้ำส้มสายชู (ผสมน้ำส้มสายชู 250 ซีซี : น้ำ 2 ลิตร ) แช่ไว้นาน 5 นาที จะลดสารพิษได้เกือบหมด


5.ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 29-38


6.ใช้โซเดียมไปคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที ลดปริมาณ สารพิษได้ร้อยละ 90-95


7.ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผัก ผลไม้ออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบ ๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 10-15 นาที ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 27-72


8.ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 48-50


ถึงตอนนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วในกรณีของแม่บ้านถุงพลาสติกไม่ได้ทำอาหารเองล่ะ จะทานอย่างไรให้ปลอดภัย ตอบว่า ผู้เขียนมีเทคนิคส่วนตัวซึ่งใช้ได้กับการทานอาหารทุกกรณีที่ต้องการลดการสะสมของสารเคมีในอาหาร นั่นคือการเลือกทานอาหารให้หลากหลายเข้าไว้ค่ะ อย่าทานผัก หรืออาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่เราชอบบ่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ใช่ทานคะน้าทุกมื้อ หรือกะหล่ำปลีผัดหมูทุกวัน


อีกวิธีคือทานพืชผักสวนครัวที่เราปลูกเองได้ง่ายๆ อย่างตำลึง แบบนี้สบายใจได้แน่ว่าไม่มีสารตกค้าง


รู้วิธีกินผักให้ปลอดภัยกันแล้ว อย่าลืมนำไปใช้กันนะคะ อย่าลืมที่เคยย้ำกันนะคะว่า You are what you eat ทานอะไรก็เป็นแบบนั้น ไม่อยากมีโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากยาฆ่าแมลงสะสม ก็ต้องรู้จักทำเหตุเพื่อลดความเสี่ยงอย่างที่บอกมานะคะ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์