ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สร้างสุขกาย - ใจหลังเกษียณ

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สร้างสุขกาย - ใจหลังเกษียณ


เกษียณ เมื่อนึกถึงคำนี้ขึ้นมา อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนที่กำลังจะก้าวเข้าไปเป็นสมาชิก รู้สึกใจหาย บางคนถึงขั้นหดหู่ใจ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตหลังเกษียณดี?
 
ชีวิตหลังการทำงานประจำ หรือที่พูดกันจนชินหูว่า “เกษียณ” นั้น จะเป็นชีวิตที่มีความสุขได้ถ้ามีการเตรียมตัวล่วงหน้าไว้ก่อน ผศ.ดร.คัคนางค์  มณีศรี คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณว่า สิ่งที่ควรเตรียมไว้มี 2 เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องแรก คือ การเงิน ซึ่งจะต้องมีการเก็บสะสมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยจะต้องมีการวางแผนการใช้เงินอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาในภายหลัง

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเตรียมใจ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเกษียณ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิตมนุษย์ หากดูจากสถิติแล้วจะเห็นว่า คนสมัยใหม่มีรูปแบบการเกษียณที่แตกต่างจากคนในสมัยก่อน คือ หลายคนยังคงทำงานต่อ นักจิตวิทยาจึงทำการวิจัยระหว่างคน 2 กลุ่ม คือ คนที่ทำงานต่อหลังเกษียณ กับคนที่ไม่ทำงาน หยุดทำงานไปเลยหลังเกษียณ พบว่า คนที่ยังทำงานต่อแต่ทำงานแบบเบา ๆ ไม่ได้ทำเต็มเวลาเหมือนในช่วงวัยทำงาน ไม่ใช่หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง หรือบางคนยังทำแบบเต็มเวลาแต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน คนกลุ่มนี้จะมีสุขภาพดี โดยพบว่า อาการความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับปอด  โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบ ปัญหาทางจิต โรคซึมเศร้า จะมีอัตราต่ำกว่าผู้ที่ไม่ทำงานหรือหยุดทำงานไปเลยหลังเกษียณ

สิ่งที่ได้จากการศึกษาตรงนี้ คือ การทำงานต่อไม่ใช่แบบหยุดโดยสิ้นเชิงมีผลต่อสุขภาพในชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งนอกจากเรื่องโรคต่าง ๆ แล้ว คนที่ทำงานแบบเบา ๆ หลังเกษียณ ยังสามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น  สามารถแต่งตัวได้ด้วยตัวเอง การคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ การตัดสินใจด้วยตนเอง การทำงานของสมองจะเร็วกว่าคนที่ไม่ทำงานหรือหยุดทำงานไปเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เกษียณแล้วอย่าหยุดอยู่เฉย ๆ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
 
การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหลังเกษียณจะเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะกับตัวเรา ผศ.ดร.คัคนางค์  กล่าวต่อว่า บางคน เกษียณที่อายุ 60 ปี บางคนเกษียณที่อายุ 55 ปี หรือ 65 ปี  ซึ่งในปัจจุบันทุกหน่วยงานตระหนักดีว่า ในอนาคตจะมีกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น จึงทำให้ในหลาย ๆ สถานที่ เมื่อมีคนเกษียณเกิดขึ้นก็มักจะจ้างต่อ อย่างที่มหาวิทยาลัยฯ ก็มีโครงการนี้เช่นกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่เกษียณด้วยว่าอยากจะเกษียณหรือว่าอยากทำงานต่อ เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าแบบใดดีกว่ากัน เจ้าตัวจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง
 
“จะต้องสำรวจตัวเองว่า อยากจะเกษียณหรือไม่ สุขภาพเอื้ออำนวยในการทำงานต่อหรือเปล่า ถ้าไม่อยากทำงานเต็มเวลาอีกต่อไปแล้ว อยากมีเวลาพักผ่อนให้มากกว่าเดิม จะต้องเตรียมตัววางแผนให้ดีก่อนที่จะเกษียณ เพราะบางคนเมื่อถึงเวลาเกษียณจริง ๆ ตั้งรับไม่ทันทำให้มีอาการหดหู่ เกิดสภาวะทางจิต เพราะชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้วางแผนชีวิตเอาไว้ก่อน ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี”
 
ในทางจิตวิทยากล่าวไว้ว่า มนุษย์มีพัฒนาการในแต่ละวัยเพื่อสร้างเอกลักษณ์  คือ การมองว่าตัวเราเป็นใคร ตัวเรามีความหมาย มีความสำคัญแค่ไหน โดยมีพัฒนาการมาตั้งแต่วัยเด็ก ในวัยทำงานก็มีเอกลักษณ์ เพราะคำนิยามให้กับตัวเราว่า เราเป็นใคร เช่น ครูมีเอกลักษณ์ในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคำนิยามว่า ครูเป็นใคร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นการกำหนดเป้าหมายชีวิตว่า อะไรเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ อะไรเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี อะไรเป็นสิ่งที่เราได้รับการยอมรับจากสังคม แต่เมื่อเกษียณ เอกลักษณ์ สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาหมดไป จึงต้องมีการวางแผนชีวิตไว้ก่อนว่าจะเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างไรเมื่อเกษียณแล้ว
 
วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ลองดูตัวเองว่าชอบอะไร ทำอะไรได้ดี ถ้าร่างกายเอื้ออำนวยอาจรับงานไม่เต็มเวลา โดยเป็นอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากร ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่เราเคยทำงานมา แต่ที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ คือ การเป็นอาสาสมัครในหน่วยงานต่าง ๆ เพราะในปัจจุบันมีองค์กรไม่แสวงหากำไรเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในส่วนของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือองค์กรช่วยเหลือคนป่วยและคนพิการ“
 
รวมทั้งลองดูว่า เราสามารถมีบทบาทอะไรในชุมชนได้บ้างหรือเพียงแค่ในครอบครัวก็ได้ ไม่ใช่มองหางานนอกบ้านเท่านั้น แต่สามารถหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านทำก็ได้ เช่น ปรับปรุงบ้าน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหลาน งานเย็บปักถักร้อย ทำขนม งานบ้านต่าง ๆ แต่จะต้องเป็นงานที่สามารถทำได้เป็นประจำทุกวัน จะได้ไม่รู้สึกเบื่อ โดยพยายามให้แต่ละวันมีอะไรทำ แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีอะไรทำ อย่าหยุดอยู่เฉย ๆ
 
“ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่า เพราะการที่มีอะไรทำ มีแผนการทำงานจะทำให้รู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต เพราะเมื่อเกษียณแล้วจะไม่มีสิ่งที่มากำหนดชีวิตแล้วว่าต้องตื่นกี่โมง ต้องแต่งตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม วันนี้จะต้องทำอะไร ถ้าไม่เตรียมการหลังเกษียณเอาไว้  บางทีตื่นมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร เพราะไม่ต้องไปทำงานอีกต่อไปแล้ว ตรงนี้จะทำให้รู้สึกสูญเสีย ซึ่งอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้”
 
สิ่งที่ต้องระวังหลังเกษียณ คือ การนั่งคำนึงถึงแต่อดีต ตรงนี้อันตราย เพราะคนที่ประสบความสำเร็จจะมีอดีตที่งดงาม ก็จะนั่งคิดแต่ว่าเมื่อสมัยนั้นฉันมีรถประจำตำแหน่ง เงินเดือนดี  มีบริวาร ถ้านึกถึงในระดับที่พอเหมาะก็ไม่เป็นอะไรแต่อย่ายึดติดอยู่กับสิ่งนั้นเป็นอันขาด เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบกับปัจจุบันทันที แต่ให้คิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจบไปแล้ว ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ชีวิตในวัยทำงานของเราจะไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก ก็อย่ามานั่งเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา การทำอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ต้องแยกแยะให้ได้ว่า ชีวิตมีหลายช่วง ในชีวิตช่วงทำงานก็ทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ถึงจุดสูงสุดของอาชีพ แต่เมื่อเกษียณแล้วก็ไม่ได้หมายความว่ายุติทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตลง แต่เป็นอีกก้าวหนึ่งของช่วงชีวิตซึ่งสามารถถึงจุดสูงสุดของชีวิตในช่วงนี้ได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนบทบาทไป
     
เพราะฉะนั้น ต้องมองไปข้างหน้าว่าชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่เรื่องความสำเร็จในอาชีพอีกต่อไป แต่เป็นความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพของการเป็นมนุษย์ ทำอย่างไรให้เรารู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ที่เต็มอิ่ม ซึ่งจะเกิดขึ้นมาจากการที่เราได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับสังคม  เช่น ได้ทำประโยชน์ไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง

ผศ.ดร.คัคนางค์  ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 10 ปี ก่อนเกษียณ เพราะจะต้องเตรียมทั้งการเงิน ที่จะต้องใช้เวลาสะสมพอสมควร ผู้ที่ต้องทำงานต่อก็จะต้องมีการวางแผนว่าจะทำในส่วนใด โดยจะต้องมีการติดต่อไว้ก่อน ในส่วนของจิตใจ ต้องทำความเข้าใจกับชีวิตที่จะต้องก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ  บางคนมักเข้าใจว่านี่คือความสูญเสีย  ถ้าคิดอย่างนั้นสุขภาพจิตจะเสื่อมถอยลง เมื่อจิตใจไม่พร้อม การคิด การตัดสินใจ การมองอนาคตจะหยุดลงทันที  จึงต้องเตรียมใจไว้ตั้งแต่ใจยังเต็มที่อยู่เพราะจะได้มองและตัดสินใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล  ใครที่ยังไม่ได้เตรียมตัวหากย่างเข้าสู่วัย 50  ก็ควรจะเริ่มคิดได้แล้วว่าหลังเกษียณจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างไรให้มีความสุข.

ปัจจัยที่ทำให้การเกษียณมีความสุขและไม่มีความสุข

จากการศึกษา อ.ดร.จอร์จ เวลแลนท์ วิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด พบว่า การเกษียณเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส โดย ปัจจัยที่ทำให้คนเราเกษียณได้อย่างมีความสุข ได้แก่

1. มิตรภาพที่มีความหมายประเภทจริงใจและมีใจให้กันและกัน โดยเฉพาะกับคู่สมรส

2. ทำงานอาสาสมัครที่ได้มีส่วนช่วยเหลือคนอื่น

3. มีงานอดิเรกที่ชอบ และทำกิจกรรมที่มีความหมาย มีคุณค่า

4. เข้าสังคมพอประมาณ

5. มีความหวัง เช่น ได้ทำอะไรที่ตั้งใจไว้นานแล้วหลังเกษียณ เช่น ท่องเที่ยว ฯลฯ

ปัจจัยที่ทำให้คนเราเกษียณอย่างไม่มีความสุข ได้แก่

1. ปิดตัว ไม่เข้าสังคม

2. ทำงานที่ไม่ค่อยมีความหมายหรือคุณค่า

3. ฆ่าเวลา คือ ทำเวลาให้ผ่านไปมากกว่าสนุกกับการทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นการพนันทั้งวัน ฯลฯ

4. ใช้เครื่องหมายแห่งความสำเร็จจากภายนอก เช่น ตั้งเป้าความสำเร็จในชีวิตด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ เช่น เงินทอง ตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งเมื่อหยุดทำงานแล้ว มีแนวโน้มที่ชีวิตจะสะดุดทันที

“ต้องแยกแยะให้ได้ว่า ชีวิตมีหลายช่วง ในชีวิตช่วงทำงานก็ทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ถึงจุดสูงสุดของอาชีพ แต่เมื่อเกษียณแล้วก็ไม่ได้หมายความว่ายุติทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตลง แต่เป็นอีกก้าวหนึ่งของช่วงชีวิตซึ่งสามารถถึงจุดสูงสุดของชีวิตในช่วงนี้ได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนบทบาทไป”


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์