ฮือฮา′พระจอมเกล้าธน′ ติดอันดับโลก1ใน400ยอดมหาลัย ′มหิดล-จุฬา′หลุดโผ

ฮือฮา′พระจอมเกล้าธน′ ติดอันดับโลก1ใน400ยอดมหาลัย ′มหิดล-จุฬา′หลุดโผ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกของ Times Higher Education World Rankings ปี 2012-2013

 
ผลปรากฏว่าในปีนี้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400 โดยมหาวิทยาลัยที่ติดอยู่ในอันดับ 1-5 ของโลกจากการจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings ในปีนี้ ได้แก่ California Institute of Technology, Oxford University, Stanford University, Harvard University, และ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ส่วนมหาวิทยาลัยในเอเชียที่ติดอยู่ในการจัด 400 อันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในครั้งนี้มีถึง 57 แห่ง

ส่วนใหญ่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยในเอเชียที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับ ได้แก่ มหาวิทยาลัยโตเกียว อันดับที่ 27, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อันดับที่ 29, มหาวิทยาลัยฮ่องกง อันดับที่ 35, มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อันดับที่ 46 และ Pohang U of Sci&Tech ประเทศเกาหลี อันดับที่ 50 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้ เป็นที่น่า สังเกตว่า
 
มหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ในการจัดอันดับ ในปีนี้เพียงมหาวิทยาลัยเดียว ทั้งที่การจัดอันดับเมื่อปี 2011 มีมหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อันดับที่ 306 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 341 แต่ในการจัดอันดับเมื่อปี 2012 เหลือมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียว ได้แก่ มม. และ ติดอยู่ในกลุ่มท้ายสุด กลุ่มอันดับ 351-400 แต่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ในปีนี้ มม.กลับไม่ติดใน 400 อันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกเช่นกัน

ฮือฮา′พระจอมเกล้าธน′ ติดอันดับโลก1ใน400ยอดมหาลัย ′มหิดล-จุฬา′หลุดโผ

นายเชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา

มจธ.กล่าวว่า มจธ.เข้าสู่การจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings เป็นครั้งแรก และติดอยู่ในอันดับที่ 389 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก เท่าที่ดูน่าจะเป็นเพราะปริมาณงานวิจัยของ มจธ.มีค่อนข้างมาก แม้จำนวนไม่มากเท่ากับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เช่น จุฬาฯ และ มม.ที่มีขนาดใหญ่กว่า มจธ. 2-3 เท่า แต่เมื่อนำจำนวนบุคลากรมาหารกับจำนวนงานวิจัยจะพบว่า มจธ.มีจำนวนงานวิจัยมากกว่า แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยนั้น ยอมรับว่าถ้ารอจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงลำบาก โดยงบฯ วิจัยส่วนหนึ่งมาจากงานบริการทางวิชาการและภาคเอกชนที่สนับสนุน ถึง 1 ใน 3 ของงบฯ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เป็นเพียงกระจกเงาสะท้อนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีโลก แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องพัฒนามากกว่าคือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเร่งพัฒนางานวิจัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ

"ที่น่าจับตาคือ เดิมมหาอำนาจด้านการศึกษาจะเป็นประเทศในแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา แต่ปีนี้สังเกตได้ว่ามหาวิทยาลัยในแถบภูมิภาคเอเชียมีพัฒนาการและติดอันดับโลกมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของจีน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ มจธ.ที่เห็นได้ชัดคือ จีนที่ทุ่มเทงบฯ เพื่องานวิจัยและพัฒนาอุดมศึกษาค่อนข้างมาก โดยขณะนี้เริ่มเห็นผลในทิศทางที่ดีขึ้น และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ทั้งจีนและสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ" นายเชาวลิตกล่าว

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings
 
จะยึดจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงจากฐานข้อมูล Institute for Scientific Information (ISI) ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะค่อนข้างได้เปรียบมากกว่ามหาวิทยาลัยที่เน้นด้านสังคม โดยในส่วนของจุฬาฯ เองเคยพูดคุยกันในเรื่องนี้ พบว่างานวิจัยของจุฬาฯ ไม่ได้ลดน้อยลง แต่อาจเน้นไปทางสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ค่อนข้างมาก จึงอาจไม่ตรงหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับ

ขณะเดียวกัน การที่มหาวิทยาลัยถูกลดงบฯ สนับสนุนของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติลงเรื่อยๆ
 
ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลงานวิจัยเช่นกัน เพราะงานวิจัยบางเรื่องต้องการความต่อเนื่อง จึงอยากให้รัฐบาลหันกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญกับการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติให้เป็นไปตามแนวทางเดิมที่วางไว้

"ในภาพรวมแม้จุฬาฯ จะมีเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับใดที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ จุฬาฯ ก็ยินดีทำ แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ ก็คงไม่ทำ เช่น งานวิจัยที่เกิดผลกระทบกับท้องถิ่นซึ่งสำคัญ แต่อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ซึ่งจุฬาฯ ก็ทิ้งไม่ได้ หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติให้มากขึ้น ขณะที่บางสาขาเด็กไทยยังไม่มีที่เรียน จุฬาฯ ก็ต้องดูแลเด็กไทยก่อน" นพ.ภิรมย์กล่าว

นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า
 
เท่าที่ทราบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกในครั้งนี้ได้เปลี่ยนกติกา ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและดูว่ากติกาที่เปลี่ยนส่งผลกระทบกับอันดับที่ลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจุฬาฯ และ มม.ที่ไม่ติดอันดับในครั้งนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะมหาวิทยาลัยไทยอาจเสียเปรียบเรื่องงบฯ วิจัยที่ถูกตัดไปถึง 2 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ ขณะเดียวกัน การที่ มจธ.ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในครั้งนี้ เข้าใจว่า มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยที่มี งานวิจัยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นเฉพาะทาง จึงอาจเป็นข้อได้เปรียบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ขณะนี้งานวิจัยอาจหยุดอยู่กับที่

"ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยไทยถอยหลังหรือไม่ คงไม่ถึงกับถอยหลังแต่เหมือนหยุดอยู่กับที่ ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลกก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ยอมรับว่าเรื่องงบฯ วิจัยที่ถูกตัดไป 2 ปี ของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ส่งผลกระทบ ต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกใน ครั้งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลตั้งเป้าว่ามหาวิทยาลัยของไทยจะต้องติดอันดับโลก ก็ต้องจัดสรรงบฯวิจัยให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้" นพ.กำจรกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์