วิถีเดิม..แต่เปลี่ยนไป ‘วิถีคนกินเจ’ วิถีในไทย..ยังใช่หรือ?

วิถีเดิม..แต่เปลี่ยนไป ‘วิถีคนกินเจ’ วิถีในไทย..ยังใช่หรือ?


ระยะนี้ธงสีเหลือง ๆ มีตัวอักษรจีนแดง ๆ เริ่มปรากฏอยู่ทั่วไปในไทยอีกแล้ว ก็เป็นสัญลักษณ์ของ “เทศกาลกินเจ” ที่ปีนี้คือระหว่างวันที่ 15-23 ต.ค. ซึ่งเพราะในไทยมีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก และคนไทยแท้ ๆ จำนวนไม่น้อยก็นิยมกินเจ ดังนั้น เทศกาลกินเจในไทยจึงเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่คึกคัก และเพื่อต้อนรับเทศกาลกินเจ ทางทีม “วิถีชีวิต” ก็ได้ลงพื้นที่ย่านไชน่าทาวน์ เยาวราช ไปเก็บเกี่ยว “วิถีการกินเจ” ในบางแง่บางมุม จากอดีตถึงปัจจุบัน มานำเสนอ...

เริ่มที่ โรงเจซินเฮงตั๊ว เขตป้อมปราบ ศัตรูพ่าย ที่มีอายุเกือบ 200 ปี ซึ่งมี จี้ แซ่หย่วย วัย 69 ปี และ เล่า มัก ลิ้ม วัย 64 ปี คณะกรรมการของโรงเจ เป็น 2 ในผู้ดูแลโรงเจ ซึ่งจี้บอกว่า กินเจสมัยก่อน กินแต่ข้าวต้ม กับข้าวง่าย ๆ แค่ 2-3 อย่าง ส่วนที่โรงเจนี้ ในช่วงเทศกาลกินเจก็จะบริการทำอาหารเจให้ทานฟรีตลอด 9 วัน วันละ 4 มื้อ
   
จี้ และ เล่า มัก ลิ้ม ร่วมกันเล่าว่า ความเชื่อการกินเจ คือกินเพื่อชำระล้างบาป กับเนื้อสัตว์ที่เราเคยกินเข้าไปตลอดทั้งปี เป็นการปลดกรรมกับสัตว์ที่เรากินไป กับสัตว์ที่เขาให้เรากิน ส่วนพิธีกรรม ในสมัยก่อนเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะพิธีกรรมในโรงเจ ห้ามใส่รองเท้า ให้ใส่ชุดสีขาว ใส่กางเกงแบบโบราณ ผู้หญิงห้ามแตะต้องแท่นพิธี บริเวณพิธี เพราะเรื่องการมีประจำเดือน ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้โรงเจแห่งนี้ยังยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นชื่อเสียงของโรงเจด้วย
   
สำหรับอาหารเจนั้น เล่า มัก ลิ้ม เล่าว่า คนสมัยก่อนเคร่งครัดมาก มักจะทำเอง สมัยก่อนกินกันง่าย ๆ กับข้าวไม่มาก แค่ 2-3 อย่าง กินกับข้าวต้ม กินพออิ่มท้อง แต่สมัยนี้มีการดัดแปลงอาหารมากมาย อย่างอาหารเจรูปสัตว์ ซึ่งอาหารเจรูปสัตว์นี้ ในส่วนของจี้บอกว่า “คนขายก็บาป ถือเป็นกิเลส เกิดการยึดติด ทำให้อยากกินของจริง ๆ” แทนที่จะกินเต้าหู้ กินผัก กินถั่ว ก็ปรุงแต่งกันขึ้น ซึ่งไม่ดีเลย และก็ไม่รู้ที่มาของอาหารด้วยว่าผสมอะไรลงไปบ้าง
   
กับธรรมเนียมการไปโรงเจ จี้ และ เล่า มัก ลิ้ม เล่าว่า โรงเจเปิดทุกวันตลอดเทศกาล และจะมีพิธีกรรม 3 วันหลัก ๆ ในเทศกาล ที่โรงเจจะมีการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีวันชิวซา ชิวลัก และชิวเก้า ซึ่งก่อนหน้านั้นที่โรงเจก็จะมีการประกอบพิธีกรรม มีการอัญเชิญเจ้ามาเพื่อให้คนได้สักการะกราบไหว้ “คนมาไหว้เจ้า บางคนก็มาทุกวัน บางคนก็จะมาเฉพาะวันที่ประกอบพิธี บางคนก็มาอยู่ทั้งคืนถึงสว่าง อยู่เพื่อไหว้เจ้า” ซึ่งที่โรงเจซินเฮงตั๊ว เป็นโรงเจที่เก่าแก่ในย่านเยาวราช จะเคร่งครัดรักษาธรรมเนียมแบบดั้งเดิมไม่เปลี่ยน ไม่ทำอะไรเกินจากที่เคย ซึ่งก็จะมีคนมาไหว้ มาทานอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจมากมาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยอาวุโส ทั้งคนไทยเชื้อสายจีน และคนต่างประเทศที่นับถือเจ้าที่นี่
   
เล่า มัก ลิ้ม มองว่า สำหรับในยุคนี้ มีคนกินเจมากขึ้น ทั้งคนทำงาน วัยรุ่น กับข้าวก็เปลี่ยนไป มีมากหลากหลายมากขึ้น มีคนขายมากขึ้น อาหารเจปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นอาหารที่หายาก แต่แม้ว่าอาหารเจจะหาไม่ยาก ที่โรงเจก็ยังมีคนมากันไม่เคยน้อย กลับจะมากขึ้นด้วย หลายคนมาไหว้ขอพร เมื่อเขาสมหวัง เขาก็กลับมาไหว้อีกในโอกาสต่อ ๆ ไป
   
“คนกินเจมากขึ้น เป็นสิ่งดี ถ้าเพราะศรัทธา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร วัยรุ่นกินเจไหว้เจ้ามากขึ้น ก็ถือว่าเป็นการพัฒนา คนแก่จากไป แต่มีรุ่นใหม่มาทดแทน คือผมมองว่าเขาเห็นคนรุ่นพ่อแม่ อากงอาม่า ทำแล้วดี ก็ทำตาม การกินเจนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่คงไม่ได้กินตามแฟชั่น แต่เพราะจิตสำนึก กินแล้วดี ก็ตามกันไปเรื่อย ๆ แล้วถ้าศรัทธาด้วย เขาก็มาไหว้เจ้า ส่วนกับข้าว อาหารเจนั้น ก็พัฒนาเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ไม่ควรมีพวกหูฉลามเจ หรือทำอาหารรูปสัตว์ อันนี้ไม่ดี ไม่ควรทำ ไม่ถูก ซึ่งสมัยก่อนไม่มี เพราะเจคือผัก” เล่า มัก ลิ้ม กล่าว
   
ย้ายไปที่เขตสัมพันธ วงศ์ ชาย เกตุมณี ผู้ดูแลภายในศาลโจซือก๋ง (วัดซุ่นเฮงยี่) และเป็นผู้ทำกับข้าวเจประจำศาล ซึ่งทำหน้าที่นี้มานานกว่า 10 ปี กล่าวว่า เรื่องเทศกาลกินเจนั้น ในอดีตชาวจีนฮกเกี้ยนจะกินเจ 9 วัน เพื่อไว้ทุกข์ให้เทพเจ้า 9 องค์ ที่ไปรบแล้วเสียชีวิต ซึ่งชาวจีนในสมัยก่อนอยากจะแต่งชุดดำไว้ทุกข์ให้ แต่พระราชาในสมัยก่อนไม่ยอม จึงเปลี่ยนมากินเจแทน และก็กินสืบทอดกันมานานจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ชาวจีนในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะกินเจเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน แต่ต่อมาจะจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง ก็กินเหมือนกันหมดแล้ว ไม่ได้เฉพาะว่าจะต้องเป็นจีนฮกเกี้ยน
   
ผู้ดูแลภายในศาลโจซือก๋ง บอกอีกว่า อาหารเจนั้น สมัยก่อนก็แค่อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีอะไรก็กินไปตามนั้น ง่าย ๆ เช่น ข้าว เผือก เต้าหู้ยี้ ผัก ลูกหนำเลี้ยบ ผักดอง จับฉ่าย ไม่ได้มีมากเหมือนสมัยปัจจุบันที่อาหารเจมีหลากหลาย มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลง เช่น นำแป้งมาทำเหมือนไส้หมู ทำเป็นลูกชิ้น ทำเป็นรูปกุ้ง ปลาหมึก นำมาต้ม ผัด แกง ทอด “อาหารเจปัจจุบันนี้มีมากมาย มีมากกว่าอาหารคาวปกติทั่วไปเสียอีก”
        
อีกอย่างที่สำคัญในช่วงเทศ กาลกินเจคือ การถือศีล ไหว้เจ้า ซึ่งชายบอกว่า ในสมัยก่อนจะมีคนนิยมถือศีลที่โรงเจ มาพักอยู่ที่โรงเจเลยในระยะเวลา 9 วัน แต่ปัจจุบันน้อยลงไปมาก มีแค่กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น อาจจะเพราะอายุมากขึ้น ลูกหลานไม่อยากให้มาพักค้าง รุ่นลูกรุ่นหลานมากับอากงอาม่า ตามมาไหว้เจ้าด้วย ไหว้เสร็จแล้วก็พากันกลับไป
   
“เรื่องการกินเจ ผมมองว่าเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินเปลี่ยนรูปแบบไป มีเมนูอาหารมากมาย ซึ่งดีไม่ดีนั้นผมไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในส่วนความเคร่งครัดต่อธรรมเนียมนั้น คิดว่าน้อยลง สมัยก่อนใครจะกินเจต้องเปลี่ยนจามชามช้อนของตัวเอง ไม่ปะปนกับใคร กินอาหารที่ทำเอง หรือกินที่โรงเจที่มั่นใจว่าไม่ปนเปื้อน บางคนถึงขนาดมานอนโรงเจก็มีมาก ตลอดระยะเวลาถือศีลกินเจต้องไม่ด่าไม่ว่าใคร แต่สมัยนี้ กินไปด่าไป”
   
เรื่องความศรัทธาก็ลดลงไปเยอะ สังเกตได้จากการบริจาคเวลาศาลเจ้าจะมีงานเทศกาล อย่างไรก็ตาม ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ชายบอกว่า ก็เป็นเรื่องที่เกิดกับเฉพาะบางบ้านบางครอบครัว ไม่ใช่ทั้งหมด บางครอบครัวก็ไม่เปลี่ยนแม้คนเฒ่าคนแก่ในบ้านจะเสียชีวิตลงไป รุ่นหลัง ๆ ที่กินเจ ก็มาโรงเจ มาศาลเจ้า มาถวายพู่ที่ศาลเจ้าซึ่งเชื่อว่าช่วยให้สุขภาพแข็งแรง หรือบางบ้านพ่อแม่อากงอาม่าเคยบริจาคข้าวสารทุกปี เมื่อทำแล้วครอบครัวดี รุ่นลูกรุ่นหลานก็ทำตามบรรพบุรุษ

ทิ้งท้าย กับ “เทศกาลกินเจ” ที่กำลังเวียนมาบรรจบ ผู้ดูแลภายในศาลโจซือก๋ง (วัดซุ่นเฮงยี่) บอกว่า “สรุปไม่ได้ว่าเปลี่ยนไปแบบ 100% หรือไม่ แต่ในเรื่องความเคร่งครัดต่อธรรมเนียมการถือศีลกินเจนั้น ลดลงแน่นอน”.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์