รำลึก...วันปิยมหาราช

                                              รำลึก...วันปิยมหาราช


เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประชุมกันภายหลังการประกาศว่าพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สวรรคตแล้วและมีมติให้เชิญสมเด็จเจ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 นั้น พระชนมายุเพียง 15 พรรษา ซ้ำยังประชวรหนักตั้งแต่เสด็จกลับมาจากหว้ากอเช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมชนก นาถ แค่การจะไปถวายน้ำสรงพระบรมศพ ก็เสด็จไปไม่ได้ ต้องให้พระบรมวงศ์อื่นแทนพระองค์

รัชกาลที่ 5 ทรงอยู่ในราชสมบัตินานถึง 42 ปี (2411-2453) เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระชนมพรรษา 57 พรรษา เมื่อ 102 ปีมาแล้ว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วจะมีผู้เลิศด้วยสติปัญญา ความปรารถนาแรงกล้าที่จะทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง และความสามารถรอบด้านถึงปานนั้น

ที่จริง 17 ปีแรกในรัชกาล ยังไม่อาจทรงใช้อำนาจเต็มได้ แม้จะทรงคิดอ่านปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไร
 
ก็มีคนรุ่นเก่าที่เคยชินกับธรรมเนียมเดิม ๆ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาฯ กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า เจ้านายชั้นพระเจ้าลุงพระเจ้าอา เสนาบดีรุ่นก่อน ๆ ไม่เห็นด้วยซึ่งก็ไม่ทรงหักหาญ หากแต่ทรงใช้ 3 วิธีในการแก้ปัญหาคือ 1. ยังคงเดินหน้าแต่ลดระดับ ลดพื้นที่ ลดขนาดลงเรียกว่า “ทำแบบนำร่อง” 2. ผสมผสานแบบเก่าแบบใหม่ เรียกว่า “พบกันครึ่งทาง” 3. ไม่ละความตั้งใจแต่เลื่อนเวลาดำเนินการออกไปเรียกว่า “ชะลอไว้ก่อน” เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่ผู้นำรุ่นหลัง ๆ น่าเอาอย่าง


รำลึก...วันปิยมหาราช

นับแต่ พ.ศ. 2428 เมื่อ “ผู้มีบารมีรุ่นเก่า ๆ” หมดไป ก็ทรงฟื้นพระราชอำนาจกลับมา รับสั่งเองว่าเหมือนการสาวสายป่านแห่งอำนาจ อำนาจที่ค่อย ๆ ฟื้นกลับมาคือ 1. อำนาจการตั้งรัชทายาท 2. อำนาจการทหาร  3. อำนาจการเงินการคลัง 4. อำนาจการศาล 5. อำนาจการต่างประเทศ 6. อำนาจการปกครอง บัดนั้นเองที่สยามเข้าสู่ระบอบการปกครองที่ควรเรียกได้ว่าสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ และความเป็นรัฐชาติที่มีเอกภาพ อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน

ว่า แล้วก็ทรงเริ่มการ “รีฟอร์ม” หรือปฏิรูปประเทศเพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ
 
ดังนี้ 1. ปฏิรูปสิทธิเสรีภาพด้วยการเลิกทาสเลิกไพร่ 2. ปฏิรูปการปกครองด้วยการจัดระเบียบการปกครองส่วนกลาง หัวเมือง และท้องถิ่น ยุบจตุสดมภ์หันมาตั้งกระทรวง มีเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง อธิบดี นำระบบเงินเดือนมาใช้ ตั้งโรงเรียนฝึกคนเข้าทำราชการ และหาคนเก่งมาทำราชการ บางทีต้องจ้างจากต่างประเทศ 3. ปฏิรูปเศรษฐกิจ จัดระบบภาษีอากรใหม่ แบ่งเงินแผ่นดินออกเป็นพระคลังข้างที่และพระคลังแผ่นดินอันเป็นการสร้าง วินัยการคลัง 4. ปฏิรูปการทหาร 5. ปฏิรูปการศึกษา 6. ปฏิรูประบบสาธารณสุข มีการตั้งโรงพยาบาลและสภากาชาดเป็นครั้งแรก 7. ปฏิรูปกิจการพระศาสนา 8. ปฏิรูปความเจริญของบ้านเมือง เช่น สร้างถนน สะพาน เปิดการเดินรถไฟ 9. ปฏิรูปการต่างประเทศ เช่น เชิญกษัตริย์ต่างประเทศมาเยือน และพระองค์เองก็เสด็จประพาสต่างประเทศเป็นครั้งแรก

ทั้งหมดนี้ทรงทำ ได้อย่างเหมาะแก่การเวลา เพราะถ้าช้าไปก็จะไม่ทันต่อภยันตรายจากต่างประเทศที่คืบคลานเข้ามา พระบรมราโชบายสำคัญที่ทรงนำมาใช้กำกับการดำเนินการทั้งหลายคือ

1. อดทน อดกลั้น  2. บางครั้งต้องยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต 3. คนเก่งมีอยู่ที่ไหนต้องนำมาใช้ให้หมดที่ว่ามานี้เป็น “การแผ่นดิน” แต่ที่เป็น “การส่วนพระองค์” และทรงทำได้อย่างดี หลายอย่างพลอยเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติของประเทศด้วย คือ 1. ทรงเป็นกวี นักเขียน ลองไปอ่านเรื่องนิทราชาคริต เงาะป่า ไกลบ้าน พระราชพิธี 12 เดือนของพระองค์สิครับ 2. ทรงเป็นนักเดินทางท่องเที่ยว 3. ทรงเป็นนักเสวย 4. ทรงเป็นนักสะสมศิลปวัตถุ เช่น ตลับงา ศิลปะของฟาร์แบเช่ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องกังไส 5. ทรงเป็นนักรัก มีพระเสน่ห์ พระรูปโฉมงดงาม พระวาจาอ่อนหวาน มีมนุษยสัมพันธ์ดี 6. ทรงเป็นนักประชาสัมพันธ์ ทรงทำงานไปอธิบายไปทุกขั้นตอน

ความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 อยู่ที่ว่าทรงมีเวลาในการทำงานยาวนาน มีผู้รับสนองงานให้เป็นไปตามพระราชประสงค์มาก มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีพระราชคุณธรรม คือ พรหมวิหาร 4 ความเป็นธรรม และพระทัยกว้างจนมีคำกล่าวว่า “แผ่นดินรัชกาลที่ 5 นั้น ใครทำให้บ้านเมืองเจริญ เป็นคนโปรดได้ทั้งนั้น”

วันนี้เป็นวันปิยมหาราช วันที่ระลึกแห่งการสวรรคต การสวรรคตทิ้งพระราชมรดกสำคัญไว้ให้เราเห็นแทบจะรอบตัว ถ้าอยู่หัวบ้านหัวเมือง มองไม่เห็นวัดที่ทรงสร้าง ถนนที่ทรงตัด รถไฟที่ทรงนำเข้ามา โรงเรียนที่ทรงริเริ่ม ดูที่ตัวเองก็ได้ว่าเราไม่ได้เป็นทาสหรือไพร่ในวันนี้เพราะใคร.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์