ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอันตรายที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอันตรายที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย


อาการนอนกรน (Snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea : OSA) สร้างปัญหาด้านสุขภาพอย่างเหลือเชื่อ ไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะผู้มีอายุมาก หรือต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 แต่ นพ.อุทัย ประภามณฑล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนอนกรน และศัลยแพทย์ทางด้านประสาทคอประจำโรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า เป็นอาการที่พบได้บ่อยขณะนอนหลับ สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนสูงวัย
    
อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness) นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ หลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง
    
สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คุณหมอระบุว่า มีอาการนอนกรนมากเวลานอน หรือรู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย ปากแห้ง คอแห้งหลังตื่นนอน ง่วงนอนมากหรือง่วงนอนตอนกลางวัน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ในเด็กอาการนอนกรนอาจคล้ายผู้ใหญ่ได้ หายใจลำบาก นอนกระสับกระส่าย อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย
    
คุณหมอยังให้หัดสังเกตตัวเองว่า มีอาการที่บ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับดังต่อไปนี้หรือไม่ หากพบก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ ได้แก่ หลังตื่นนอนตอนเช้ามีความอ่อนล้าไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะ ต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ มีความรู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน, ง่วงนอนหรือเผลอหลับในเวลาทำงานกลางวัน ในห้องเรียน ในขณะเข้าฟังประชุม ขณะขับขี่รถ หรือขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ดูโทรทัศน์, นอนหลับแล้วมีฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก, มีอาการหายใจติดขัดหรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลายขณะหลับ, มีอาการนอนสะดุ้งตื่น หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ, มีความดันโลหิตสูงหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่หาสาเหตุไม่ได้, การทำงานหรือผลการเรียนแย่ลงเพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ และสมรรถภาพทางเพศลดลง.


ขอบคุณ : ไทยโพสต์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์