อ้วนหลบใน อันตรายของคนผอม

อ้วนหลบใน อันตรายของคนผอม


เหตุใดคนหุ่นผอมๆ เวลาเช็คสุขภาพกลับได้ผลตรวจแย่กว่าคนอ้วน แพทย์ชี้ตำแหน่งไขมันเป็นตัวการสำคัญ

บางคนอ้วนออกพุง บ้างก็อ้วนออกแขนขา บ้างก็อ้วนออกหน้า คนเรามีวาสนาแห่งความอ้วนต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ความอ้วนที่เรากังวลคือ หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา และใบหน้า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าตาของร่างกายที่ต้องนำเสนอออกสู่สังคม

หากมองในแง่สุขภาพ  นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เล่าว่า ความอ้วนใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย คนอ้วนหลายคนมีสุขภาพดีกว่าคนผอม เห็นได้จากในหลายๆ ครั้งเวลาเจาะเลือดตรวจไขมัน กลายเป็นว่าไขมันในคนผอมมีมากกว่าคนอ้วน ดังนั้น อ้วนไม่อ้วนไม่ใช่ตัวตัดสินเสมอไป

ความอ้วนที่จะบอกสุขภาพได้ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่ “อ้วนลึกๆ” ท่านเหล่านี้จะมีไขมันประกอบอยู่ในช่องท้องสูง แม้ข้างนอกจะไม่มีพุงก็ตาม โดยไขมันที่พอกอยู่ในช่องท้องเป็นแบบเดียวกับ “มันเปลว” ที่เราเห็นอยู่ในตลาดสด หากลองนำไปเจียวแล้วก็ได้น้ำมันเหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าจะดูสุขภาพจริงจัง ต้องดูแยกที่ตำแหน่งของไขมัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับความปลิ้นหรือไม่ปลิ้นของเนื้ออวบๆ ที่ต้นแขน ต้นขา โดยหนึ่งตัวชี้สำคัญคือ ไขมันตำแหน่งแย่ที่สุด อย่าง “ไขมันในช่องท้อง”(Visceral fat) ที่เป็นตัวทำให้เกิดโรคในกลุ่มที่เรียกว่า “อ้วนลงพุงมฤตยู”(Metabolic syndrome) ทำให้เกิดผลลัพธ์ร้ายเรียงกัน คือ หลอดเลือดพัง ดื้อต่ออินซูลินที่ทำให้ความดันสูงจนอาจกลายเป็นเบาหวาน และมันจุกตับหรือภาวะที่มีไขมันในเนื้อตับมากกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งอันตรายมากในคนที่มีทั้งความอ้วนแบบเนื้อปลิ้นและอ้วนลึกๆ

นอกจากนี้ อ้วนลงพุงยังจะนำโรคความดันสูง เบาหวาน ไขมันพุ่ง และมะเร็งมาจ่อคิวอีก หนทางกำจัดไขไขมันที่เกาะอยู่ข้างในคือต้อง “ยกเครื่อง” การกิน-อยู่เสียใหม่ดังต่อไปนี้

“เพิ่มไขมันสีน้ำตาล”  ในตัวคนเรามีไขมันที่มีสีขาวกับน้ำตาล โดยไขมันสีน้ำตาลนี้มีมากตอนเกิดเพื่อให้พลังงานและช่วยเผาผลาญ แต่พอโตขึ้นก็แทบไม่เหลือ การเพิ่มไขมันสีน้ำตาลต้องรับประทานไขมันดีและออกกำลังกายให้เหมาะสมจะช่วยได้

“เลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส”  น้ำตาลชนิดนี้คือน้ำตาลผลไม้และน้ำตาลที่อยู่ในน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมหลายอย่าง ตัวที่น่ากลัวคือ “น้ำเชื่อมข้าวโพดเข้มข้น”(HFCS) ที่หวานจัดและกระตุ้นให้มันจุกตับได้ เป็นตัวบำรุงไขมันในช่องท้องอย่างดีเลย

และ “คอยตรวจการทำงานตับ” เพื่อความไม่ประมาทควรตรวจไว้ว่า มีไขมันมาเกาะหรือไม่ และเพื่อดูค่าเอนไซม์ตับจากเลือดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งยังควรอัลตร้าซาวน์ดูเนื้อตับเป็นระยะทุกๆ 6 เดือน ยิ่งในท่านที่ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ควรดูเรื่องไขมันจุกตับไว้ให้ดี

นพ.กฤษดา ชี้ว่า การมีค่านิยมว่ารูปร่างผอมเพรียวแล้วจะดี ยิ่งทำให้มี “จุดอ่อน” เสมือนหลุมดำทางสุขภาพ เพราะทำให้ลืมนึกถึงปรากฏการณ์อ้วนข้างในอย่างเช่นที่บอก จึงขาดความระวังเรื่องการรับประทาน แถมมักไม่ออกกำลัง เห็นได้ชัดจากประสบการณ์ตรวจคนไข้ มีหลายท่านที่ตรวจเลือดแล้วปรากฏค่าสารบ่งชี้มะเร็งตับขึ้น ค่าเอนไซม์ตับสูง มีน้ำตาลสะสมก็อยู่ในเกณฑ์อันตราย ขณะที่ตัวคนไข้ก็จะงงๆ ว่า ผอมอย่างนี้ทำไมข้างในดูเหมือนคนอ้วน ผิดกับคนเจ้าเนื้อหลายท่านที่หมั่นตรวจสุขภาพประจำเพราะตระหนักดีว่าเป็นคนอ้วนเลยสุขภาพดีไขมันไม่สูง ร่างกายข้างในแจ่มแจ๋ว เช่นเดียวกับผู้ที่ดูแลสุขภาพดีทั่วไป.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์