หัวใจ ... อย่าให้ตีบซ้ำ

หัวใจ ... อย่าให้ตีบซ้ำ


หัวใจ อวัยวะสำคัญของมนุษย์ที่ต้องการการดูแลรักษา โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของไทย จึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมด้วยการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของหัวใจเอง

นพ.วศิน พุทธารี แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และหัวหน้าห้องสวนหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบว่า เป็นโรคที่เกิดมาจากหลายปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แบ่งได้เป็นปัจจัยที่ติดตัวมา ซึ่งแก้ไขไม่ได้ เช่น เพศชายเป็นมากกว่า กรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้นรวมถึงปัจจัยที่มาจากพฤติกรรม เช่น สูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกาย อ้วน

"อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนไทยนั้น ยังไม่มีการศึกษาที่บ่งชี้ตัวเลขได้ชัดเจนในคนไทย เพราะว่าการศึกษาด้านระบาดวิทยาของเรายังไม่ได้กว้างขวางพอ แต่เท่าที่มีการศึกษาอยู่บ้างอย่างอ้อมๆ ดูเหมือนว่าความชุกของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในประเทศไทยยังไม่ได้มากเท่ากับซีกโลกตะวันตก ซึ่งเป็นมากกว่าเรา ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ" นพ.วศินกล่าว

แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เผยว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เราได้มาจากวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น การสูบบุหรี่ อาหารการกินที่เพิ่มไข้มันในเลือด สิ่งที่ตามมาก็คือ อ้วน และไม่ค่อยออกกำลัง

นพ.วศินชี้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะทราบอาการของโรคหลอดเลือดบ้างพอสมควร คือ เจ้าตัวจะรู้สึกว่ามีอาการแน่นหน้าอก และเป็นอาการที่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกแปลกๆ ตรงหน้าอกคนจะกังวลว่าเป็นโรคนี้ไหม เพราะว่าหลังจากมีอาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก แต่บางคนอาการไม่คลาสสิคขนาดนี้ มาด้วยอาการเหนื่อยๆ หรืออึดอัดในหน้าอก

ถ้าไม่ได้เป็นปุ๊บปั๊บทันที อาจจะเริ่มมีอาการก่อนน้อยๆ แต่เป็นตอนออกกำลังเริ่มมีอาการเจ็บในหน้าอกหรือแน่น ถ้าเกิดฝืนทำต่อจะยิ่งแน่นยิ่งเจ็บหน้าอกมากขึ้น จนกระทั่งต้องตัดสินใจหยุดพัก พอหยุดอาการก็จะค่อยๆ เบาลงทันที อันนี้จะเป็นอาการเตือนแล้วว่า อาจจะมีภาวะนี้อยู่

แต่บางคนก็จะไม่มีอาการเตือนเลย เหมือนวิ่งทุกวัน ไม่เคยมีอาการแบบนี้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่งตื่นเช้ายังไม่ได้ออกแรงอะไรเลยแต่แน่นหน้าอกขึ้นมาอย่างแรง หายใจไม่ออก อันนี้จะเป็นอีกคนไข้หนึ่งที่โชคร้ายกว่า คือ มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบฉับพลันโดยไม่มีอาการเตือนก่อนหน้า

การรักษาต้องไปขยายตรงตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ซึ่งมี 2 วิธี คือ ผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยต่อเส้นเลือดให้เลือดอ้อมจุดที่ตีบไป ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องเปิดหน้าอก และการขยายหลอดเลือดหัวใจ (การทำบอลลูน) โดยวิธีการสอดใส่สายที่มีบอลลูนไปแล้วขยายตรงรอยขอดนั้นหรือถ่างให้ช่องในหลอดเลือดกว้างขึ้น เลือดก็จะสามารถไหลผ่านได้

วิวัฒนาการของการรักษาด้วยวิธีการใส่สายสวน เกิดการเรียนรู้มาเรื่อยๆ เนื่องจากการทำบอลลูนในระยะแรกๆ เมื่อขยายหลอดเลือดไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเกิดช่องกว้างในหลอดเลือดคนไข้ทุกคน เพราะพบว่าส่วนหนึ่งเส้นเลือดหดยุบตัวลงมาจำนวนไม่น้อย อาทิ ใน 100 คน จะมีคนไข้ 35-40 คน เกิดการตีบซ้ำกลับมาใหม่

อย่างไรก็ตามการเกิดซ้ำไม่หมดไป เนื่องจากเมื่อมีขดลวดค้ำไว้ เส้นเลือดเมื่อมีวัสดุแปลกปลอม มันจะสร้างเนื้อเยื่อมาคลุมขดลวดโลหะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับผนังหลอดเลือด หากคลุมบางๆ พอที่จะมาปิดขดลวดไว้ ช่องข้างในก็ยังใหญ่พอให้เลือดไหลไปได้ แต่คนไข้บางรายเกิดเนื้อเยื่อที่มาปกคลุมข้างในหลอดเลือดหนามากกระทั่งช่องว่างเหลือน้อย ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าคนไข้คนใดจะเกิดการตอบสนองแบบใด

ปัจจุบันวิวัฒนาการขดลวดโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้จากสารชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด (polylactic acid) มีความแข็งแรงเพียงพอ และสามารถย่อยสลายได้ เพื่อให้หลอดเลือดสามารถกลับมาสู่พยาธิสภาพปกติ เป็นท่อนิ่มๆ เหมือนเดิม

กลไกที่อาจจะเกิดการหลอดเลือดยุบตัวลง หรือมีเนื้อเยื่อมาพอกด้านใน จะเกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือนแรก ดังนั้นพอผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ขดลวดค้ำยันชีวภาพจะเริ่มสลายตัวเอง โดยกลไกที่พอสัมผัสกับของเหลวหรือเลือดในหลอดเลือดจะค่อยๆ ละลายและถูกดูดซับไปโดยเซลล์ใกล้เคียง สารที่นำมาทำขดลวดค้ำยันชีวภาพ จะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่เซลล์ในผนังหลอดเลือดนำไปใช้ได้ ฉะนั้นตัวมันเองก็จะสลายไป หลัง 6 เดือนไปแล้ว ขดลวดค้ำยันที่ใส่ไว้ก็จะค่อยๆ เห็นน้อยลงๆ และสลายไปในในระยะเวลา 2 ปี

กรณีที่คนไข้ต้องกลับมารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำ จะทำได้ง่ายกว่า เพราะหลอดเลือดมีความแตกต่างกัน บางตำแหน่งต้นทางมีความคดเคี้ยวพอใส่ขดลวดโลหะเข้าไปในครั้งแรก พอเกิดซ้ำในตำแหน่งถัดไป จะใส่ขดลวด หลบขดลวดอันแรก จะทำได้ยากขึ้น เพราะจากท่อนิ่มๆ กลายเป็นท่อแข็งๆ ก็จะทำให้การรักษาด้วยวิธีบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือดก็ยากขึ้น แต่ถ้าขดลวดค้ำยันหายไปได้ ตอนที่เส้นเลือดเกิดการตีบซ้ำขึ้นมาก็สามารถรักษาได้ง่ายขึ้น

"สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ ที่เราเสียเงินเป็นแสนเป็นล้าน เอาบอลลูนเข้าไปขยายโดยใส่โครงค้ำยันหลอดเลือดโลหะหรือชีวภาพ เราไม่ได้รักษาโรคให้หายขาดนะ อย่าเข้าใจผิด มันแพงก็จริง และจำเป็นต้องทำเพราะไม่เช่นนั้นเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ แต่เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ไปก่อน คนไข้จะได้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ แต่พอผ่านไปแล้ว สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการรักษาโรคให้หายขาด และไม่ได้เป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ"

ดังนั้นการรักษาโรคนี้ โดยองค์รวม และเป็นการรักษาที่ทุกคนจะต้องได้ ไม่ว่าจะทำบอลลูน หรือการผ่าตัดบายพาส หรือไม่ทำก็ตาม คือการดูแลตนเอง และการรับประทานยา

โรคนี้มีมานานแล้วและอยู่กับเรามานานแล้ว พวกเราทุกคนควรจะหาโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยตนเองให้มากขึ้นเท่าที่จะมากได้ ถ้าวันหนึ่งเป็นเองหรือญาติพี่น้องเป็นจะได้เข้าใจมากขึ้นว่าควรจะทำตัวอย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็น บังเอิญโชคร้ายเป็นแล้วนั้นควรทำตัวอย่างไรบ้าง เวลาแพทย์แนะนำจะต้องรักษาอย่างไรก็จะได้เข้าใจมากขึ้น ไม่เข้าใจผิด เมื่อรักษาไปแล้วจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด

การดูแลตนเองหลีกเลี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ประกอบด้วย การปรับปัจจัยเสี่ยง เช่น

1. หยุดสูบบุหรี่เด็ดขาด

2. ดูแลอาหารการกินให้ดี เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีไขมัน ไม่มีคลอเรสเตอรอล

3. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วน

4. หาทางผ่อนคลายตนเองไม่ให้เครียด

5. ควบคุมเบาหวาน ความดันให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์ ยิ่งเขาดูแลตนเองได้ดีเท่าไร โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำก็จะน้อยลงเท่านั้น ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโอกาสที่จะเป็นซ้ำมีสูงได้เท่ากัน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์