วงจรชีวิตสินค้าไฮเทค 4 เหตุผลอวสาน เน็ตบุ๊ก

วงจรชีวิตสินค้าไฮเทค 4 เหตุผลอวสาน เน็ตบุ๊ก

5 ปีก่อน ผู้บริโภคเคยตื่นตาตื่นใจกับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพกพาสะดวก ในชื่อ "เน็ตบุ๊ก" ขนาดที่เหมาะกับการพกพา และการใช้หน่วยประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเน็ตบุ๊กได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ผ่านไปไม่นาน ดูเหมือนว่า "เน็ตบุ๊ก" กำลังจะหมดอายุขัยของมันเสียแล้ว

โดย "เดอะการ์เดี้ยน" รายงานว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แบรนด์ดัง "เอซุส" และแบรนด์ที่เหลืออื่น ๆ จะไม่ผลิต "เน็ตบุ๊ก" อีกต่อไป ถือเป็นการปิดสายการผลิตคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กอายุ 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตไปโดยปริยาย

ผลวิจัยของบริษัทเอบีไอเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ระบุว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก (คอมพิวเตอร์ที่ใช้หน่วยประมวลผลอินเทล อะตอม มีขนาดหน้าจอเล็กกว่า 10 นิ้ว) จะมียอดขายรวมถึง 139 ล้านเครื่อง และมองว่า ความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อเน็ตบุ๊กจะยังไม่จืดจางลง

แต่อย่างใด เพราะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของเครื่องมากกว่าประสิทธิภาพการใช้งานของคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริงยอดขายเน็ตบุ๊กในปี 2556 น่าจะมีจำนวนใกล้เคียงอยู่ที่ 0 เครื่อง


เว็บไซต์ดิจิไทม์ เว็บไซต์ด้านไอทีของไต้หวันรายงานว่า เอซุสออกมาประกาศว่า จะไม่ผลิต Eee PC อีกต่อไป (Eee PC คือสายผลิตภัณฑ์เน็ตบุ๊กที่เอซุส
เปิดตัวในปี 2550) เช่นกันกับแบรนด์ดัง "เอเซอร์" ก็ไม่มีแผนผลิตเน็ตบุ๊กต่อ
หมายความว่า ตลาดเน็ตบุ๊กได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ หลังจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ 2 เจ้าเคลียร์สินค้าหมดสต๊อก

ปัจจุบันบริษัท อัสซุสเทค และเอเซอร์เป็น 2 รายสุดท้ายในตลาดคอมพิวเตอร์ที่ยังผลิตเน็ตบุ๊ก โดยเน้นจับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้เป็นหลัก บริษัทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง, เอชพี และเดลล์ ต่างหันหัวเรือไปสู่แท็บเลตกันหมด จากนี้ทั้งอัสซุสเทคและเอเซอร์ก็คงเดินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เอเซอร์เคยออกมายืนยันเมื่อ ก.ย.ปีที่แล้วว่าจะยังทำตลาดเน็ตบุ๊กต่อไป ส่วน "อินเทล" เจ้าของหน่วยประมวลผล "อะตอม" ก็หันไปผลักดันซีพียูประเภทดังกล่าวเข้าสู่ตลาดเครื่องแอปพลิเคชั่น ณ จุดจำหน่ายแทน

"การ์เดี้ยน" วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้เน็ตบุ๊กต้องปิดตัวลงมี 4 เรื่อง

1.การปรับตัวของตลาดพีซี

จุดเด่นของ "เน็ตบุ๊ก" คือพกพาได้สะดวก, มีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ยาวนาน และผู้ใช้ยังสามารถใช้ซอฟต์แวร์อะไรก็ได้ตามแต่ที่ต้องการ ซึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดพีซีเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เทรนด์

ที่ผู้บริโภคนิยมเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ถี่ขึ้น เน็ตบุ๊กเข้ามาถูกที่ถูกเวลา และสร้างตลาดใหม่สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการอุปกรณ์ที่เน้นเรื่องการพกพาง่ายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ประเภทใดมีราคาใกล้เคียงเน็ตบุ๊ก แม้จะมีโน้ตบุ๊กสำหรับกลุ่มผู้ใช้โลว์เอนด์

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของระดับราคาในตลาดคอมพิวเตอร์พกพาเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่แบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊กราคามีการพัฒนาให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ทำให้ผู้บริโภคยิ่งตัดสินใจซื้อเน็ตบุ๊กยากขึ้น การที่โน้ตบุ๊กมีราคาถูกขึ้นเรื่อย ๆ เป็นตัวการหลักที่กระทบตลาดเน็ตบุ๊ก

ส่วนการมาถึงของ "อัลตราบุ๊ก" ซึ่งเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นบางเบาเป็นพิเศษ ไม่น่าเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เน็ตบุ๊กตาย เพราะอัลตราบุ๊กแทบไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะราคาห่างจากเน็ตบุ๊กมากเกินไป

2.การถดถอยของสภาพเศรษฐกิจโลก

"เดอะการ์เดี้ยน" มองว่า สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยลงในช่วงที่ "เน็ตบุ๊ก" กำลังได้รับความนิยม ปัญหาวิกฤตการเงินปี 2551 ทำให้ธนาคารหลายแห่งเกือบต้องปิดตัว ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ยอดขายลดลงติดต่อกันถึง 3 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งยอดขายพีซีในอดีตค่อนข้างสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับยอดขาย "เน็ตบุ๊ก" เติบโตสูงในปี 2551-2552 แต่เริ่มฝืดอย่างชัดเจนในปี 2553 "เดวิด เดาด์" นักวิเคราะห์จากไอดีซีเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ตลาดเน็ตบุ๊ก

ในอเมริกา มียอดขายตกลงจาก 2 ล้านเครื่องในไตรมาส 1 ปี 2553 เหลือ 1.5 ล้านเครื่องในปลายปีเดียวกัน ต่อมาในไตรมาสสุดท้ายปี 2554 เหลือเพียง 750,000 เครื่องเท่านั้น

เทรนด์ตลาดโลกปรากฏให้เห็นในลักษณะเดียวกัน โดยยอดขายเน็ตบุ๊กในไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ 9 ล้านเครื่อง แต่ในไตรมาส 4 ปี 2554 ลดลงเหลือ 6.2 ล้านเครื่อง ขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์พีซีในภาพรวมของไตรมาส 4 ปี 2554 มียอดขายเติบโตมากกว่า 20% ซึ่งสภาพเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่ฉุดให้ตลาดพีซีเติบโตแน่นอน

3.การทำธุรกิจค่อนข้างลำบาก

ปัจจัยที่เป็นจุดเด่นของ "เน็ตบุ๊ก" คือค่าตัวที่ย่อมเยา โดย Eee PC เริ่มวางจำหน่ายกับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ราคาเพียง 199 เหรียญสหรัฐ การตั้งราคาระดับนี้ทำให้ผู้ผลิตเกิดปัญหาเพราะทำกำไรได้

น้อยมาก โดยเฉพาะหลังจากเน็ตบุ๊กใช้ระบบปฏิบัติการ "วินโดวส์เอ็กซ์พี" เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์วินโดวส์/เครื่อง สูงมากกว่า 30 เหรียญสหรัฐ ส่วนวินโดวส์ 7 ก็มีราคาประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ผลิตมีช่องทางทำกำไรน้อยกว่าเดิมเข้าไปอีกซ้ำร้ายช่วงเวลานั้น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในวงการมองว่า ตลาดเน็ตบุ๊กอาจกำลังปรับตัวเข้าสู่ช่วงรุ่งโรจน์ในช่วงที่เทรนด์สำคัญอื่น ๆ ในตลาดพีซีเกิดขึ้นเช่นกัน

เริ่มจากการที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีต้องการทำกำไรให้สูงขึ้น เพราะค่าลิขสิทธิ์ของวินโดวส์ 7 ทั้งตลาดเริ่มมีอัตราการเติบโตช้าลง และผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนสู่เครื่องแล็ปทอปมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุดคือ "แอปเปิล" ตัดสินใจเปิดตัว "ไอแพด" สู่ตลาด

4.การมาถึงของไอแพดและแท็บเลตสารพัดชนิด

ม.ค. 2553 "แอปเปิล" เปิดตัวไอแพด หลังจากนั้นใน เม.ย.ปีเดียวกัน "ไอแพด" ก็ออกสู่ตลาด และกลางปี 2553 บรรดาบริษัทไอทีต่างพากันประกาศเปิดตัวแท็บเลต

บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทันใดนั้นแท็บเลตกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตส่งผลให้ "เน็ตบุ๊ก" กลายเป็นสินค้าล้าสมัยในสายตาผู้บริโภคทันที

สิ่งที่น่าจับตามองคือยอดขาย "เน็ตบุ๊ก" เริ่มลดลงเป็นที่แรกในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง "ไอแพด" ประสบความสำเร็จด้านยอดขายเป็นแห่งแรกเช่นกัน

จุดที่ตลกร้ายคือ ไอแพดมีราคาสูงกว่าเน็ตบุ๊ก แต่มีฟังก์ชั่นการทำงานครอบคลุมน้อยกว่า เพราะผู้ใช้ไม่สามารถใช้ชุดโปรแกรมออฟฟิศในไอแพดได้ รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แต่ "ไอแพด" มีจุดแข็งเรื่องพกพาได้สะดวกกว่า "เน็ตบุ๊ก" และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่า (เน็ตบุ๊กบางรุ่นที่วางจำหน่ายปี 2552 ใช้ได้นานเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ต่างไปจากโน้ตบุ๊กทั่วไป)

"เดอะการ์เดี้ยน" มองว่า ภายใน ก.พ.ปีนี้ น่าจะได้เห็นภาพชัดว่า เน็ตบุ๊กหมดอายุขัยในตลาดไปเรียบร้อยแล้ว โดยยอดขายแท็บเลตปี 2554 อยู่ที่ 63 ล้านเครื่อง ในขณะที่เน็ตบุ๊กอยู่ที่ 29.4 ล้านเครื่องเท่านั้น ต่างจากปี 2553 ที่แท็บเลตมียอดขาย 23 ล้านเครื่อง ส่วนเน็ตบุ๊กอยู่ที่ 39.4 ล้านเครื่อง

ปี 2555 ที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ "ไอดีซี" คาดการณ์ไว้ในเดือน ธ.ค. 2555 ว่า แท็บเลตน่าจะมียอดขายสูงถึง 122.3 ล้านเครื่อง และเพิ่มขึ้นไปถึง 172 ล้านเครื่องในปีนี้ ขณะที่ยอดขาย "เน็ตบุ๊ก" คงอยู่ที่ 0 เครื่อง หากไม่นับรุ่นเก่าที่บรรดาแบรนด์ไอทีต่าง ๆ ต้องรีบเคลียร์ให้หมดจากสต๊อกเร็ว ๆ นี้


ขอบคุณ : ประชาชาติธุึรกิจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์