ทำไมผิวเราจึงเหี่ยวย่นเวลาอยู่ในน้ำนานๆ?

ทำไมผิวเราจึงเหี่ยวย่นเวลาอยู่ในน้ำนานๆ?

ทำไมผิวเราจึงเหี่ยวย่นเวลาอยู่ในน้ำนานๆ?


ทำไมผิวหนังบริเวณฝ่ามือของเราถึงเหี่ยวย่นเวลาที่เราต้องแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ ซึ่งผลงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษชิ้นนี้ อาจช่วยไขข้อข้องใจดังกล่าวได้

การลงนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่น หรือออกกำลังกายในสระว่ายน้ำ คงเป็นกิจกรรมที่ใครหลายคนชื่นชอบ แต่สิ่งที่เป็นปริศนาซึ่งสร้างความรำคาญใจให้กับคนจำนวนมาก คงหนีไม่พ้นผิวหนังที่เหี่ยวย่นเวลาที่ต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ตั้งคำถาม และพยายามหาเหตุผลว่า เหตุใดผิวหนังบริเวณใต้ฝ่ามือจึงเหี่ยวย่น ขณะที่ผิวหนังบริเวณอื่นๆ ของร่างกายกลับไม่เหี่ยวย่นตาม

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในประเทศอังกฤษ จึงได้ทำการศึกษาเหตุผลทางชีววิทยา ที่ทำให้ผิวหนังใต้ฝ่ามือเหี่ยวย่นขณะอยู่ในน้ำ โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ความเหี่ยวย่นบริเวณใต้ฝ่ามือเวลาแช่น้ำ เกิดจากการถ่ายโอนโมเลกุลน้ำในผิวหนังไปยังน้ำด้านนอก หรือที่เรียกว่ากระบวนการออสโมซิส แต่งานวิจัยล่าสุดจากภาควิชาชีววิทยาของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ชี้ว่า รอยเหี่ยวย่นของผิวหนังบนฝ่ามือ เกิดจากการที่เซลล์ประสาทบนฝ่ามือ เปลี่ยนโครงสร้างการไหลเวียนของเลือด เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของเนื้อเยื่อบนผิวหนัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยให้การหยิบจับสิ่งของขณะที่มือเปียกน้ำง่ายยิ่งขึ้น

เพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว นายทอม ชโมลเดอร์ส นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลและคณะ

จึงได้ทดลองหาสาเหตุของการเกิดรอยเหี่ยวย่น โดยให้อาสาสมัครจุ่มมือข้างขวาในน้ำอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ส่วนมือข้างซ้ายเป็นมือที่ไม่แช่น้ำ จากนั้น เขาได้ให้อาสาสมัครใช้มือแต่ละข้างจับสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในถังน้ำ เช่นลูกแก้ว หรือเหยื่อตกปลา เพื่อนำไปใส่ในถังอีกใบที่ตั้งไว้ข้างกัน ผลปรากฎว่า มือข้างขวาที่เหี่ยวย่น สามารถหยิบจับสิ่งของได้รวดเร็วกว่ามือข้างที่แห้งถึง 12 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยได้ให้อาสาสมัครคนเดิม จับวัสดุที่แห้งจากถังหนึ่งไปใส่อีกถังหนึ่ง ปรากฏว่า มือข้างที่เหี่ยวย่น กับมือข้างที่แห้ง มีประสิทธิภาพในการหยิบจับสิ่งของได้เท่ากัน

ผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาการปรับตัวของสภาพร่างกายมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ต่างให้การตอบรับผลวิจัยชิ้นนี้กันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ ศาสตรจารย์ซี เชน จากภาควิชาวิศวกรรมชีวกลศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่า ผลวิจัยดังกล่าวเป็นสิ่งน่าสนใจมาก เพราะช่วยพิสูจน์ว่า รอยย่นบนฝ่ามือเป็นการปรับสภาพของผิวหนังตามธรรมชาติ ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่น้ำทำต่อผิวหนังแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เชนตั้งข้อสังเกตว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการศึกษาระบบประสาท และเส้นเลือด ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผิวหนังที่เหี่ยวย่นบริเวณฝ่ามือขณะอยู่ในน้ำนานๆ เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองให้เราสามารถหยิบจับสิ่งของต่างๆ ในน้ำได้ง่ายขึ้นจริงหรือไม่

ทำไมผิวเราจึงเหี่ยวย่นเวลาอยู่ในน้ำนานๆ?


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์