บอกลาค่านิยมการกินแบบผิดๆ เพื่อสุขภาพ

บอกลาค่านิยมการกินแบบผิดๆ เพื่อสุขภาพ


น่ายินดีที่พบว่าเทรนด์การดูแลสุขภาพในปี 2556 นี้ มีคนไทยจำนวนมากที่หันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย เพราะตระหนักว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้น นับวันก็จะยิ่งใกล้ตัวและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่น่าห่วงคือ มีความเข้าผิดๆ ในเรื่องของการกินเพื่อสุขภาพกันอยู่มาก อาจารย์สง่า  ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย และรองประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงอธิบายถึงปัญหาที่พบเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน และเสนอแนะทางออกไว้ดังนี้ค่ะ

กินให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้

กระแสการกินเพื่อสุขภาพถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีบางคนที่ตีความหมายผิดไป เช่น เข้าใจว่าการก้มหน้าตากินผักอย่างเดียวนั้น คือการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริงการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต่างหาก ที่เป็นการกินเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง

อาจารย์สง่ามีข้อเสนอแนะว่า การที่จะทำอย่างให้เด็กกินผัก ผลไม้ จนเป็นกระแส เพื่อลดการกินขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดดลมให้น้อยลง ควรจะหันมารณรงค์อย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นที่ศูนย์เด็กเล็กจะต้องมีกรอบการทำงานด้านโภชนาในระยะยาว เพราะเป็นศูนย์รวมที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้การกินอาหารที่ถูกต้องจนกลายเป็นวัฒนธรรม

มื้อหลักสำคัญ อาหารเสริมทดแทนไม่ได้

นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยมีความเชื่อเรื่องการกินอาหารเสริม เพื่อทดแทนการกินอาหารในมื้อปกติ จนในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมมียอดจำหน่ายสูงขึ้น อันเป็นปัจจัยมาจากอิทธิพลทางการตลาด ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอาหารเสริมนั้น ไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้ แต่เป็นเพียงอาหารที่กินเพื่อเสริมอาหารหลัก ที่อาจได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตามการกินอาหารทุกมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี

บอกลาวัฒนธรรมอาหารตะวันตก

ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังคงมีค่านิยมกินข้าวนอกบ้าน และเลือกที่จะกินอาหารตะวันออก เช่น อาหารขยะ (Junk Food) อาหารจานด่วน (Fast Food) ซึ่งผลจากการกินอาหารที่ไม่ได้ปรุงด้วยตัวเองนั้น มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะโภชนาการเกิน (โรคอ้วน) เพราะไม่ได้ควบคุมส่วนผสมและเครื่องปรุง บ้างก็หวานจัดหรือเค็มจัดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา และสิ่งสำคัญคือ อาจมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นตัวหลอกล่อ เป็นการเพิ่มพลังงานโดยใช่เหตุอีกด้วย

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

อิทธิพลของการรณรงค์บางส่วนของสำนักงานสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนไทยตะหนักถึงความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ฯลฯ และหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่พอใจ

ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัยจึงเสนอแนะถึงทางออกของปัญหาดังกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ควรจะมีบทบาทในการดูแล รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคนไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดให้ได้กินนมแม่ ตามมาด้วยการกินอาหารที่เหมาะสมตามวัยและถูกต้องตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งปลูกฝังค่านิยมการกินอาหารไทยให้อยู่ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการควบคุมขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม ที่ไม่เพียงแต่เน้นเรื่องของการอ่านฉลาก แต่ควรลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมในขนมให้ลดน้อยลงด้วย

“อย่างไรก็ตามการป้องกัน ย่อมดีกว่าการแก้ไข เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะมีสุขภาพดีไปอีกนาน”


ขอบคุณ  Team Content  www.thaihealth.or.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์