5 เทคนิคต้องทำเมื่อเป็นหนี้


“หนี้ท่วมหัว ทำยังไงดี” ประโยคยอดฮิตนี้ ใคร ๆ ก็คงไม่อยากจะพูดเอง เพราะนอกจากมึนจนทำอะไรไม่ถูกแล้ว ความเครียดต่าง ๆ ยังถาโถมเข้ามาอีกส่งผลให้สุขภาพจิตของตัวเอง และครอบครัวมีปัญหา จนอาจทำให้หน้าที่การงานที่ทำอยู่มีปัญหาตามมาอีกด้วย ดังนั้น หากต้องพูดประโยคยอดฮิตนี้จริง ๆ แล้ว มีเทคนิคจัดการอย่างไร มาติดตามกันค่ะ

1. ตั้งสติให้มั่น ตั้งจิตใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง หยุดก่อหนี้ หยุดสร้างหนี้เพิ่มโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะต้องลำบากขนาดไหน ที่สำคัญต้องหยุดหาหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า เพราะจะทำให้เป็นหนี้แบบงูกินหาง ไม่รู้จักจบ ต้องอยู่ให้ได้ด้วยเงินเดือนของตัวเอง

2. จัดสรรรายได้ โดยการทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเองทุกวันตลอดเดือน ว่าในแต่ละเดือนมีรายได้จากทางใดบ้าง พอใช้จ่ายหรือไม่ หรือในแต่ละเดือนต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าผ่อนชำระหนี้สินค้าต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เมื่อทำเสร็จแล้วให้ดูว่าทั้งเดือนใช้จ่ายเท่าไหร่ หมดกับอะไรไปมาก มีเหลือเก็บออมหรือไม่ หรือต้องดึงเงินเก็บมาใช้ทุกเดือน เพราะหากไม่เคยทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายเลย จะไม่รู้ว่าในแต่ละเดือนมีการใช้จ่ายเงินอย่างไร และหมดไปกับอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อรู้ปัญหาแล้วว่าเงินหมดไปกับอะไร หากเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่สามารถประหยัดได้ ควรประหยัดอย่างจริงจัง

3. สำรวจภาระหนี้สินของตัวเอง ว่ามีอะไรบ้าง แนะนำให้ทำตารางแบ่งประเภทหนี้สินที่มี แยกประเภทหนี้ จำนวนหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระ อัตราขั้นต่ำที่ต้องชำระ จากนั้นให้คำนวณยอดหนี้ทั้งหมด คำนวณรายได้ทั้งหมด เรียงลำดับยอดหนี้ที่สำคัญจากมากไปหาน้อย

4. เลือกจ่ายหนี้ที่สำคัญก่อน โดยเฉพาะหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่วนหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลให้จ่ายเท่าที่จ่ายได้ โดยเลือกจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน และติดต่อขอประนอมหนี้ ขอผ่อนจ่ายเท่าที่จ่ายไหวในแต่ละเดือน ห้ามหนีหนี้ ห้ามขาดการติดต่อกับเจ้าหนี้ ให้ยอมรับความจริง

5. ศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาหนี้ เพราะแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนมีหนี้ 2-3 บัญชีก็กุมขมับแล้วเพราะไม่เคยเป็นหนี้มาก่อน แต่บางคนก็ถึงกับเข่าอ่อนเพราะยอดหนี้มากจนถึงกับวิกฤติ ต่อให้อยากจ่ายก็ยากลำบาก มีวิธีแนะนำดังนี้ค่ะ

- จ่ายขั้นต่ำเพื่อรักษาบัญชีและเครดิต วิธีนี้ เหมาะกับผู้ที่มีหนี้ไม่เยอะ อาจจะมีหนี้เพียง 2-3 บัญชี แนะนำให้จ่ายขั้นต่ำตามใบเรียกเก็บเงิน หรือจ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำสักเล็กน้อย (ถ้าทำได้) ที่สำคัญต้องมีวินัยในการผ่อนชำระ หากหมดภาระหนี้แล้ว ไม่ควรก่อหนี้ใหม่เพิ่มอีกเป็นอันขาด เพราะจะทำให้มีหนี้ไม่หมดสิ้น มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากใครที่ทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายแล้วไม่ติดลบก็สามารถใช้วิธีนี้ได้

- ขายทรัพย์สินที่ขายได้ออกไปเป็นเงินสด เพื่อนำมาปิดหนี้ให้ได้มากที่สุด หากมีหนี้สินมากให้เลือกปิดทีละรายการที่สามารถปิดหนี้ได้ เพื่อให้เหลือจำนวนเจ้าหนี้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากไม่สามารถทำได้ หรือไม่มีทรัพย์สินที่สามารถขายเพื่อปลดหนี้ได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการของศาล ในระหว่างนั้นแนะนำให้เก็บเงินให้มากที่สุด อย่าได้หลงระเริงกับเงินที่มี ต้องเตรียมสะสมเงินเพื่อเคลียร์หนี้สินทั้งหมด

- สร้างเครดิตให้กับตัวเองอีกครั้ง หลังจากปลดหนี้ที่มีทั้งหมดแล้ว ในช่วง 2-3 ปี หลังจากนี้จึงจะสามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกครั้ง ดังนั้น ระหว่างนี้แนะนำให้อดใจ อดทน อดออม และอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุทั้งหลาย และควรใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อให้มีความสุขในชีวิตครอบครัวและการงาน

ดังนั้น หากได้ก่อหนี้ขึ้นมาแล้ว ต้องมีสติในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าได้หนีหนี้ หนีปัญหา เราต้องเป็นผู้บริหารหนี้ อย่าปล่อยให้หนี้มาบริหารตัวเรา ดังนั้นหากรู้จักประเภทหนี้ที่ได้ก่อขึ้นมาจะช่วยให้สามารถใช้สินเชื่อต่าง ๆ ได้อย่างเกิดประโยชน์ที่สุด


หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่อีเมล K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ดในเว็บไซต์ K-Expert นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารการเงินดีๆ ติดตามได้ที่ เว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และ Twitter @KBank_Expert


5 เทคนิคต้องทำเมื่อเป็นหนี้

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์