2020 ถึงเวลาทำเหมือง บน ดาวเคราะห์น้อย?

2020 ถึงเวลาทำเหมือง บน "ดาวเคราะห์น้อย"?
 

แนวความคิดเรื่องการ "ทำเหมืองบนดวงดาว" นั้นไม่ใช่ของใหม่ ครั้งหนึ่งเคยบูมอย่างหนักในยุค "อพอลโล" เมื่อความสำเร็จขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายต่อหลายคนคิดฝันไปไกลถึงขนาดจะมี "อาณานิคม" ที่คนเราสามารถไป "ใช้ชีวิต" และ "ทำงาน" กันในห้วงอากาศได้

แต่ความคิดฝันทำนองนั้นสลายไปพร้อมๆ กับการหดหายไปของงบประมาณของนาซาในราวๆ ทศวรรษ 1970 กว่าจะโผล่กันออกมาอีกทีก็ปีสองปีนี้แหละ แล้วก็ไม่ใช่การริเริ่มของทางการ แต่เป็นการริเริ่มของเอกชนอีกต่างหาก

บริษัทล่าสุดที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างเป็นงานเป็นการคือ "ดีพ สเปซ อินดัสตรีส์" หรือ "ดีเอสไอ" ที่ประกาศที่ซานตาโมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาว่า เตรียมการทำเหมืองในอวกาศจากดาวเคราะห์น้อยทั้งหลายกันแล้ว โดยจะเริ่มโครงการนับตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก "ไฟร์ฟลาย" (หิ่งห้อย) ขึ้นไปปูทางสำรวจคุณสมบัติของดาวเคราะห์น้อยดูก่อน หลังจากนั้นก็ปล่อย "ดรากอนฟลาย" ต่อเนื่องในปี 2016 โดยจะใช้เวลาราว 3-5 ปี เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยแล้วจะเริ่มโครงการ "เชิงพาณิชย์" กันจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563 เป็นต้นไป


เดวิด กัมป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของ "ดีเอสไอ" คาดหมายว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น "ลูกค้า" ประเดิมธุรกิจเหมืองบนดวงดาวของตนเป็นรายแรกๆ น่าจะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักสะสมทั้งหลาย ที่น่าจะมีงบประมาณมากเพียงพอต่อการซื้อหาจับจองเป็นเจ้าของ "สินแร่" จากอวกาศล็อตแรกๆ และเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะแรก นอกจากการ "เก็บตัวอย่าง" ดังกล่าวแล้ว "ดีเอสไอ" ยังจะทำหน้าที่รับจ้าง "เติมเชื้อเพลิง" ให้กับดาวเทียมเพื่อการสื่อสารทั้งหลาย

โดยตั้งเป้าหมายจะดึงเอา "นาซา" ที่บริหารดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐอเมริกาอยู่เป็นจำนวนมากนั่นแหละเป็นลูกค้าเช่นเดียวกัน ที่อาจจะขยายขอบเขตไปได้ถึงการ "เติมเชื้อเพลิงในอวกาศ" สำหรับอวกาศยาน "สำรวจดาวอังคาร" ของนาซาในอนาคตอีกด้วย

"ดีเอสไอ" ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ประกาศเจตนารมณ์เช่นนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทชื่อ แพลเนทารี่ รีซอร์สเซส อิงค์. ก็เคยเปิดตัวจะทำ "ธุรกิจ" ในทำนองเดียวกันตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ก็นำเอาแบบจำลองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของดาวเคราะห์น้อยจากระยะไกล โดยไม่จำเป็นต้องลงจอดอีกด้วย

โครงการ "ทำเหมืองในอวกาศ" ทำนองนี้ ฟังดูแล้วตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจดี ถ้าสำเร็จและเป็นไปได้ก็จะทำให้โครงการอวกาศต่อไปสามารถ "เลี้ยงตัวเองได้" แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจได้ว่า มันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญก็คือ ความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ของโครงการที่ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ นานามากมายนั้น เป็นจริงตามที่คาดคิดกันหรือไม่

ในขณะที่บริษัทเอกชนทำอย่างดีเอสไอและพีแอลอาร์ทำโครงการทำนองนี้ออกมา นาซาก็มีปฏิบัติการคล้ายๆ กันอยู่เหมือนกัน เรียกว่า "โอซิริส-เร็กซ์" ที่วางแผนกันไว้ว่าจะส่งขึ้นสู่อวกาศได้ในปี 2016 นี้

มูลค่าโครงการของนาซา อยู่ที่ราวๆ 2,000 ล้านดอลลาร์ คาดหวังว่าจะได้ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยระหว่าง 60 กรัม ถึง 2 กิโลกรัม เพื่อนำกลับโลกมาในปี 2023

โครงการของดีเอสไอ คาดหวังว่าจะได้ "ตัวอย่าง" ระหว่าง 20-45 กิโลกรัม ต่อปฏิบัติการ "ดรากอนฟลาย" ในแต่ละครั้ง โดยตามแผนแล้ว "ไฟร์ฟลาย" ทั้งหมดจะมี 3 ลำ รวมมูลค่าเพียง 20 ล้านดอลลาร์

เทียบกันดูแล้วคนละเรื่องกันเลยทีเดียว ระหว่างผลตอบแทนกับต้นทุนของโครงการทั้งสองโครงการ ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแน่นอน

คือ โครงการของดีเอสไออาจไม่คุ้มค่าในทางปฏิบัติ หรือไม่ก็โครงการของนาซาทำไมถึงแพงมหาศาลอย่างนั้นก็ไม่รู้!!?

หน้า 9 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556


2020 ถึงเวลาทำเหมือง บน ดาวเคราะห์น้อย?

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์