ทำไมเราถึงไม่ควร“กลัวผี”?



เคยลองตั้งคำถามกับตัวเองมั๊ยครับว่า….ทำไมเราถึงกลัวผี ในเมื่อปัจจัยเหตุแต่ละอย่าง ดูแล้วไม่แน่ใจว่ากลัวผี หรือกลัวความคิดตัวเองกันแน่ … ความเชื่อส่วนใหญ่อันเป็นบ่อเกิดของ ‘ผี’ มักย้อนแย้งในตัวเองเสมอ
 
‘ทำไมผีต้องมากับกลิ่นธูป’ … ปรากฏการณ์สุดคลาสสิก สัญญาณเตือนยอดฮิตก่อนผีมา ธูปมักเป็นอัตลักษณ์ของวัดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อใดที่กลิ่นธูปควันเทียนโชยกรุ่นเข้าจมูกแบบไร้ที่มาที่ไป ยิ่งถ้าหันซ้ายแลขวาแล้วไม่พบแหล่งกำเนิดในละแวกใกล้เคียง ยิ่งช่วยเพิ่มความประสาทแดกให้ผู้ประสบเหตุขึ้นอีกหลายเท่าตัว สาบานว่าเวลาอย่างนี้ไม่มีใครคิดถึงพระประธานเด็ดขาด ทำไมต้องเป็นกลิ่นธูป? หรือถ้าเป็นผีอินเตอร์ เราคงได้กลิ่นกำยานแบบที่จุดในโบสถ์แทน?
 
‘ทำไมผีต้องกลัวพระ’ … ปู่ย่าตายายชอบสอนว่าผีกลัวพระ หมายรวมทั้งชนิดรูปและองค์ พระเป็นองค์นั้นไม่เท่าไหร่ แต่สติปัญญาของเด็ก 7 ขวบที่นั่งฟังและอยู่ในวัยกำลังตำแยขี้สงสัย อยากถามเหลือเกินว่า งั้นเวลาพระมรณะ กลายเป็นผี ผีพระจะกลัวพระมั้ยล่ะฮะยาย ไอ้ครั้นจะถามก็กลัวผู้ใหญ่หาว่ากวนตีน พาลตบด้วยเชี่ยนหมาก ลำบากเปล่าๆ เลยจำต้องเชื่อตามอย่างนั้นมาจนโต
 
 
‘ทำไมผีต้องคู่กับข้าวสาร/น้ำมนต์’ … นอกจากพ่อหมอที่ชอบจองแท่นนั่งอยู่กลางวงสายสิญจน์ในหนังไทย ก็ยังไม่เคยมีสถาบันไหนยืนยันได้ว่าทั้งข้าวสารเสก หรือน้ำมนต์เก้าวัดแช่ด้วยว่านเก้าชนิดนั้น ได้ผลจริงพอๆ กับกระเทียมที่ใช้กับแวมไพร์ หรือโลหะเงินที่ใช้กับมนุษย์หมาป่าหรือเปล่า … แล้วถ้าเวิร์กจริง ทำไมไม่สาดข้าวสารใส่ผีจีนแทนการแปะยันต์ไว้บนหน้า?
 
‘ทำไมผีถึงเกี่ยวกับสัตว์’ … ด้วยความกลัวผีของเรา กรรมจึงตกอยู่กับสรรพสัตว์มากมาย ทั้งแมวดำ หมา แม้กระทั่งนกที่โดนมนุษย์เหมารวมว่าเป็นลางร้าย … เจอแมวดำเดินบนกำแพง อี๊! อัปมงคล คว้าไม้กวาดไล่ฟาด จริงๆ ถ้าพูดได้ แมวคงบิดขี้เกียจใส่ และอยากบอกว่า “กูเพิ่งตื่น ลงมาจากหลังคาเดี๋ยวนี้เอง” … หมาหอนก็ว่าเห็นผี ทั้งที่จริงแล้ว แค่เห่าคุยกับหมาบ้านตรงข้าม … กลางค่ำกลางคืนนกบินผ่าน โทษว่าเป็นยมทูต จริงๆ กูแค่มาหาหนอนกิน … ในทางกลับกับ มนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่เคยมีใครสนใจผีหมา ผีแมว ตกลงคือหมูหมากาไก่ที่ไหนตายไปแล้วจะไม่เป็นผีอย่างเรา?
 
‘อยากเห็นผี ทำไมต้องรอเที่ยงคืน’ … กรณีที่กลัวผี แต่บังเอิญเปรี้ยวจัด อยากลองของในเวลาเดียวกัน อารามเหมือนดูหนังสยองขวัญ ปิดตาดูพลางกางนิ้วทั้งสิบออกห่างๆ … สารพัดคำบอกเล่า ตำราท้าผีจากหลากหลายสำนักระบุตรงกันว่าต้องกระทำการกันหลังเที่ยงคืน บางรายเคร่งหน่อย หลังเที่ยงคืนแต่ไม่ควรเกินตีสอง คล้ายเป็นเวลาราชการของผี หมายความว่าถ้าก่อนหรือหลังจากเวลานี้ คุณอาจไม่สามารถติดต่อธุระกับเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ (ผี) จะไม่สะดวกให้ความร่วมมือ? … ไอ้พวกที่ ‘เขาว่ากันว่า’ หรือ ‘เขาบอกว่า’ … ไอ้เขาเนี่ยใครบอกกันวะ??
 
  
‘ทำไมถึงไม่สามารถเจอผีได้ทุก วัน’ … การถูกผีหลอก หรือเจอผีกับตัวแบบจะจะ ก็ว่ายากแล้ว แต่การเจอผีชนิดเดิม ซ้ำสอง ซ้ำสามนี่ยากกว่า บางคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเราถึงไม่เห็นผีทุกวัน คำตอบแบบอ้อนอุ้งคือ ผี ไม่ใช่ยามหน้าหมู่บ้าน ถึงได้เจอกันเป็นกิจวัตร … นัยหนึ่งคือเพราะเราไม่ได้มีโอกาสเห็นทุกบ่อยๆ เราถึงได้กลัวผีหรือเปล่า? ‘การ เห็นผีมีสูตรสำเร็จ’ … ชุดขาว ผมยาว (กรณีเป็นผีผู้หญิง) ไม่มีขา ลอยมา (ทำไมต้องลอยมา) ทั้งผีในคลิป ในรูป ไม่ว่าตั้งใจหรือบังเอิญถ่ายติดเอง ฟอร์มหลักๆ ของผีจะมาสไตล์นี้เสมอ ไม่ก็มีอีกตัวเลือก คือออกทรงควันๆ เงาๆ เลย ที่สำคัญ ผีไม่เคยหันหลังให้คนที่เห็น
 
ทั้งหมด นี้เป็นเพียงบางส่วนเกี่ยวกับการตั้งคำถามเรื่องผี และถ้าจะมองในมุมเศรษฐศาสตร์ “การหลอกของผี มีเหตุผลสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน แบบเดียวกับทฤษฎีการผลิต คือ … ผีมีจุดประสงค์ที่จะหลอกคนให้ได้มากที่สุด โดยเสียต้นทุน (พลังงานของตัวเอง) ต่ำสุด”
 
คนกลัวผี เพราะกลัวว่าผีจะมาฆ่า หรือทำอันตรายให้ตัวเอง แต่นั่นน่ะ นับว่าผิดวัตถุประสงค์ของผี เพราะจริงๆ แล้วผีไม่มีเหตุผลอะไรมาฆ่าคน แต่เลือกที่จะนานๆ มาหลอกทีมากกว่า ก็ถ้าผีฆ่าเราตาย เราก็จะกลายเป็นผี แล้วไปล้างแค้นมัน ซึ่งนับว่าผิดวัตถุประสงค์อย่างรุนแรง ฉะนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวไงครับ



 การตัดสินใจของมนุษย์ มักใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลทั้งนั้น เพราะงั้นคนส่วนใหญ่ถึงกลัวผี ทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยเห็น หรือ (เชื่อว่า)เห็น ซึ่งนั่นอาจจะไม่ใช่ผีก็ได้ แต่ปักใจเชื่อไปก่อนแล้ว ถ้าเราเข้าใจรูปแบบการปรากฏของผี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกลัวอีก.


ทำไมเราถึงไม่ควร“กลัวผี”?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์