ความจริงเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง

ความจริงเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง


เช้าวันอาทิตย์ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมกำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่ที่สวนเบญจกิตติอยู่ดีๆ ก็ได้รับฟังรายการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานผู้หนึ่ง ผ่านทางรายการวิทยุรายการหนึ่งจากหูฟังที่ผมสวมใส่เป็นประจำตอนออกกำลังกาย

ข้อความที่ท่านให้สัมภาษณ์ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ว่า ประเทศไทยมีการผูกขาดการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างไร. ข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเข้าไปดำรงตำแน่งเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจด่นพลังงาน ทำให้ละเลยในการดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ปล่อยให้มีการผูกขาด ไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี ทำให้น้ำมันในบ้านเรามีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น โดยราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเราแพงที่สุดในอาเซียน และรัฐบาลปล่อยให้บริษัทน้ำมันมีค่าการตลาดสูงถึงลิตรละ 5-8 บาท และยังมีเรื่องต่างๆ อีกมาก

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ผมเข้าใจว่าได้มีการชี้แจงกันไปก็หลายครั้งแล้ว ทั้งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานอย่างเช่น ปตท. โดยได้ไปชี้แจงทั้งในชั้นกรรมาธิการของทั้งสองสภา ชี้แจงในที่ประชุมและเวทีสัมมนาต่างๆ รวมทั้งทำป็นเอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วย แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ ผมไปสัมมนาหรือบรรยายที่ไหนก็ถูกถามในประเด็นเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

ผมเข้าใจว่าที่ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจประชาชนก็คงป็นเพราะการชี้แจงนั้นยังทำได้ไม่ครบถ้วนเพียงพอ และเรื่องราคาน้ำมันนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชน เป็นเรื่องที่เราต้องสัมผัสอยู่ทุกวัน เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ ดังนั้นเมื่อมีใครมาพูดกรอกหูอยู่ทุกวันว่า ทุกวันนี้ราคาน้ำมันแพงเพราะเราถูกเอาเปรียบ จึงกลายเป็นประเด็นที่จุดติดและสังคมให้ความสนใจตลอดมา

ดังนั้นวันนี้ผมจะถือโอกาสอธิบายเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันกันอีกครั้งว่าโครงสร้างราคาน้ำมันในบ้านเรานั้นเป็นอย่างไร แพงเกินจริงกันไปหรือไม่ และจะทำให้มันถูกลงได้อย่างไร


ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าโครงสร้างราคาน้ำมันไม่ว่าในประเทศไหนๆนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ

1. เนื้อน้ำมัน ซึ่งหมายถึงน้ำมันดิบซึ่งสั่งมาจากแหล่งต่างๆ บรรทุกมาทางเรือ ส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมัน แล้วกลั่นออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งตัวเนื้อน้ำมันนี้จะมีต้นทุนไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะโรงกลั่นสมัยใหม่จะมีกำลังการกลั่นและเทคโนโลยีการกลั่นไม่แตกต่างกันมาก น้ำมันดิบที่ใช้ก็มีคุณภาพใกล้เคียงกัน จะต่างกันก็ที่ค่าขนส่งน้ำมันดิบมายังโรงกลั่น ซึ่งถ้าอยู่ไกลจากแหล่งผลิตก็จะต้องจ่ายค่าขนส่งแพงกว่า ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าต้นทุนเนื้อน้ำมันของโรงกลั่น (ไม่รวมค่าขนส่งและค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน) แต่ละแห่งจะมีความใกล้เคียงกันมาก โดยราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นในสิงคโปร์และประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 23-23.50 บาท/ลิตรเท่านั้น (ราคาเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2556)

2. ภาษี รัฐบาลแต่ละประเทศเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์น้ำมันไม่เหมือนกัน โดยมีอัตราที่แตกต่างกันมาก บางประเทศเรียกเก็บในอัตราสูงมาก อย่างเช่นในยุโรป เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ราคาน้ำมันในทวีปยุโรปจึงแพงมาก ลิตรละ 60-80 บาท เป็นต้น หรือแม้แต่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ราคาน้ำมันก็แพงมากลิตรละ 40-50 บาท ทั้งๆที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของตลาดน้ำมันในภูมิภาคนี้

บางประเทศไม่เก็บภาษีหรือเก็บในอัตราต่ำเพราะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อย่างเช่นประเทศในกลุ่มโอเปค และประเทศเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ อย่างเข่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไนเป็นต้น นอกจากไม่เก็บภาษีแล้วบางประเทศ ยังมีการนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนราคาน้ำมันอีกปีละหลายแสนล้านบาทอีกด้วย ทำให้สามารถขายน้ำมันได้ในราคาถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ไม่ใช่ผู้ส่งออก

ส่วนประเทศไทยนอกจากจะมีการเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูงสำหรับน้ำมันเบนซินถึงลิตรละ 7 บาท แก๊สโซฮอลลิตรละ 6.30 บาท (แต่เก็บดีเซลต่ำเพียง 0.005 บาท/ลิตร) แล้ว เรายังมีการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95, 91 และแก๊สโซฮอลเข้ากองทุนน้ำมันฯอีกลิตรละ 8.50, 7.20 และ 2.80 ตามลำดับ รวมกันแล้วผู้ใช้น้ำมันเบนซินในบ้านเราต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต+กองทุนน้ำมัน+ภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงถึงลิตรละ 18-19 บาทเลยทีเดียว แล้วจะไม่ให้ราคาน้ำมันบ้านเราแพงได้อย่างไร

3. ค่าการกลั่นและค่าการตลาด ส่วนนี้หมายถึงกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจค้าน้ำมันรายใหญ่อย่างเช่นบริษัทน้ำมัน และผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อยอย่างเช่นปั้มน้ำมัน กำไรส่วนนี้รวมกันแล้ว เฉลี่ยทั้งปีประมาณ 2-3 บาท/ลิตร แบ่งเป็นค่าการกลั่นประมาณ 1-1.50 บาท/ลิตร ค่าการตลาดของผู้ค้ารายใหญ่ประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร และของผู้ค้ารายย่อยอีกประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร แล้วแต่ประเภทของการลงทุน

จะเห็นว่าในส่วนกำไรของผู้ประกอบการนั้นเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเรา (ประมาณ 5-6% ของราคาขายปลีก) ในขณะที่ภาษีและเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนฯในส่วนของน้ำมันเบนซินนั้น เป็นสัดส่วนที่สูงถึง 40% ของราคาขายปลีก ดังนั้นถึงแม้เราจะกดดันไม่ให้ปตท.เอากำไรเลย โดยให้ทำธุรกิจแบบ NGO หรือ ป่อเต็กตึ้ง ราคาน้ำมันก็จะลดลงได้เพียงลิตรละ 2-3 บาทเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นคือปตท.เจ๊ง บริษัทน้ำมันอื่นๆก็ไม่เอาด้วย เพราะต้องค้าขายแข่งกับปตท.ที่ไม่เอากำไร เขาก็ขายกิจการกลับบ้านเขาไป แล้วปตท.หรือรัฐบาลจะรับภาระไหวหรือครับ กับการที่ต้องแบกภาระการขาดทุนทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว ผู้มริโภคก็จะยิ่งไดัรับการบริการที่แย่ลงเพราะขาดการแข่งขัน

ถ้าเช่นนั้นจะมีวิธีอะไรที่จะทำให้ประชาชนได้บริโภคน้ำมันในราคาถูกลงได้ล่ะครับ คำตอบก็คือ ก็ต้องแก้ไขที่ต้นตอซิครับ ทุกวันนี้รัฐบาลต้องเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็นจำนวนมาก ก็เพราะต้องเอาไปอุดหนุนคนที่ใช้ก๊าซแอลพีจี ให้ได้ใช้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง ดังนั้นวิธีแก้ที่ง่ายและตรงจุดที่สุดก็คือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีให้ไม่ต้องมีการอุดหนุนหรือมีการอุดหนุนน้อยที่สุด เมื่อไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีปีละ 40,000 ล้านบาท รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯมาก ราคาน้ำมันก็ลดลงได้เองแหละครับ

สรุปแล้วราคาน้ำมันบ้านเราแพงเพราะภาษีและเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯนะครับ ไม่ใช่แพงเพราะการผูกขาดตัดตอน ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือค่าการตลาดสูงถึง 7-8 บาท อย่างที่เขาพยายามพูดให้เข้าใจผิดกันแต่อย่างใด

ความจริงพูดกันสั้นๆ ง่ายๆ ก็ได้ว่า แพงเพราะไปอุ้มคนใช้ก๊าซให้ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกๆ นั่นเอง!!!

ความจริงเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์