กระแสเฟอร์บี้แรง!!ราคาพุ่งตัว6,500บาทรับตรุษจีน


กระแสเฟอร์บี้แรง!!ราคาพุ่งตัว6,500บาทรับตรุษจีน

'ตุ๊กตาเฟอร์บี้' ตลาดออนไลน์ล่าสุด พุ่ง 6,500 บาท รับเทศกาล 'ตรุษจีน' ผู้ค้าแห่โปรโมท ไม่มีโกง – มัดจำล่วงหน้า

มีรายงานว่า แม้จะมีการตรวจพบการถูกหลอกขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ ผ่านโลกออนไลน์ และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท แต่การประกาศขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ ในโลกออนไลน์ก็ยังมีอยู่ต่อไป
              ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบเว็บไซด์ www.pantipmarket.com พบว่ามีผู้ลงประกาศขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ จำนวนมาก โดยผู้ขายบางรายขยับราคาขายขึ้นสูงถึงตัวละ 6,500 บาท จากเมื่อต้นสัปดาห์ซึ่งอยู่ที่ตัวละ 6,000 บาท ขณะที่ราคาขายสินค้าจากผู้นำเข้าลิขสิทธิ์อยู่ที่ตัวละ 3,999 บาท
              จากการตรวจสอบยังพบว่า ผู้ขายบางราย มีการโพสต์ข้อความยืนยันว่า “ไม่มีการโกง สั่งของแล้วได้เลย” “ไม่พรีออเดอร์” รวมถึงการระบุว่า “ไม่ต้องมีการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า” เพื่อยืนยันความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น
              น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากกระแสตุ๊กตาเฟอร์บี้ ที่มีลักษณะเป็นตุ๊กตาขนฟู มีลักษณะของสัตว์เลี้ยง ร้องเพลง เต้นรำ พูดคุยกันด้วยภาษาของเฟอร์บี้ได้ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลเป็นจำนวนมาก จนล่าสุดมีข่าวถูกหลอกลวงให้ซื้อตุ๊กตาเฟอร์บี้ ผ่าน "อินสตาแกรม" และโปรแกรมสื่อสารออนไลน์อื่นๆ ดังข่าวที่ปรากฏขึ้นในขณะนี้
              “ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อจึงขอแจ้งเตือนผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น พร้อมกับเก็บหลักฐานต่างๆไว้อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้”
              น.ส.ทัศนีย์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ต้นปี 2556 ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีซื้อขายผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตกว่า 20 กรณี ทำให้เห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเจอปัญหาการหลอกลวงบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และยังไม่มีหน่วยงานหลักที่จะติดตามตรวจสอบการซื้อขายอย่างจริงจัง ทั้งที่ทุกวันนี้การซื้อขายออนไลน์มีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา
              หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า หากผู้บริโภคถูกหลอกลวงหรือซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้นั้น

 ไม่ว่าจะผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือซื้อขายผ่านหน้าร้านที่มีจำหน่ายโดยตรงก็ตาม ผู้บริโภคสามารถดำเนินการ ได้ดังนี้

              1. เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ สิ่งที่ผู้บริโภคพึงระวังคือ การถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ได้คุณภาพตามที่ได้โฆษณา หรือถูกหลอกให้โอนเงินค่าสินค้าให้ก่อนแต่ไม่ได้รับสินค้า ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องเก็บหลักฐานในการสั่งซื้อไว้ เช่น
              1.1 หลักฐานการสั่งซื้อผ่านหน้าเว็บไซต์ ให้ผู้บริโภคถ่ายรูปหรือปริ้นหลักฐานการสั่งซื้อเก็บไว้
              1.2 เก็บหลักฐานการโอนเงินค่าสินค้า ซึ่งในกรณีที่โอนผ่านตู้เอทีเอ็มให้นำสลิป ไปถ่ายเอกสาร (เนื่องจากตัวหนังสือจะเลือนหายใช้เป็นหลักฐานไม่ได้)
              2. เมื่อสั่งซื้อสินค้าแล้วพบว่าไม่ได้รับสินค้าตามที่ได้ระบุไว้ หรือได้รับสินค้าที่ไม่เหมือนที่โฆษณาในเว็บไซต์ ให้ปฏิบัติดังนี้
              2.1 ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปยังเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อสอบถามการส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค โดยกำหนดวันจัดส่งสินค้าให้ผู้บริโภคภายใน 7 วันนับจากที่ได้รับจดหมาย ทั้งนี้ ให้แนบสำเนาหลักฐานการโอนเงินค่าสินค้าและหลักฐานการสั่งซื้อไปพร้อมกับจดหมายด้วยเพื่อเป็นการยืนยันว่าได้มีการซื้อสินค้า
              2.2 หากพ้นวันที่กำหนดการจัดส่งสินค้า ให้ผู้บริโภคเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สน.ใกล้บ้าน กรณีจ่ายเงินซื้อสินค้า และไม่ได้รับสินค้า เข้าข่ายหลอกลวงให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า
              2.3 ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) โทรศัพท์ 02-5137113,02-5133681 , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-2483737 , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166


ที่มา::www.isranews.org


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์