อีก 2 เดือนระวังอันตราย ยุงลายรวมพลถล่มไทย!



เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใกล้ตัวที่น่ากลัวกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นคือ การระบาดของไข้เลือดออก ที่ปีนี้ (พ.ศ.2556) คณะผู้เชี่ยวชาญและสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ประเมินว่า การลุกลามของโรคจะรุนแรงกว่าปี พ.ศ.2555 คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 120,000-150,000 ราย และเสียชีวิตถึง 120-200 ราย เนื่องจากมีรายงานจำนวนผู้ป่วยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึง 9,824 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 800-1,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 12 ราย

ปัญหาหลักในการระบาดหนักคือ จำนวนยุงลายที่เพิ่มขึ้น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวพร้อมแนะว่า ต้องเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายในอาคารบ้านเรือนและโรงเรียนทั่วประเทศก่อนถึงฤดูฝน คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขกำจัดได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายจากแหล่งน้ำขังทุก 7 วัน

สำหรับยุงลายที่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ยุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) และยุงลายสวน (Aedes Albopictus) ซึ่งแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายทั้งสองชนิดแตกต่างกัน ลูกน้ำยุงลายบ้าน จะอยู่ในภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น โอ่ง, บ่อซีเมนต์, ถ้วยหล่อขาตู้กับข้าว, แจกัน, จานรองกระถางต้นไม้, ยางรถยนต์ และเศษวัสดุต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง โดยยุงเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน ขณะที่ ยุงลายสวน มักเพาะพันธุ์อยู่ในแหล่งธรรมชาติ เช่น โพรงหิน, โพรงไม้, กระบอกไม้ไผ่, กาบใบพืชจำพวกกล้วย, ยางรถยนต์เก่า และรางน้ำฝนที่อุดตัน เป็นต้น ซึ่งยุงลายทั้ง 2 ชนิด ล้วนเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น

ก่อนกำจัดมารู้จักวงจรชีวิตของยุงลาย เพื่อการกำจัดอย่างถึงรากถึงโคน วงจรชีวิตของยุงลายมี 4 ระยะ คือ หลังจากกินเลือดแล้ว 4-5 วัน ก็จะวางไข่ ซึ่ง ไข่ เมื่อวางออกมาใหม่ ๆ จะมีสีขาวนวล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำสนิทภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนจะกลายเป็น ลูกน้ำ ระยะนี้ใช้เวลาฟักตัว 4-5 วัน จึงกลายเป็น ตัวโม่ง และ1-2 วันหลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง ตัวเต็มวัย

ฉะนั้น การกำจัดยุงลายให้สิ้นซาก ควรจัดการตั้งแต่ระยะลูกน้ำ เริ่มต้นจาก ปิดปากภาชนะเก็บน้ำ ด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเข้าไปวางไข่ได้ ต่อมาให้ หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน กรณีนี้เหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ เช่น แจกันดอกไม้ แจกันหิ้งบูชาพระ และแจกันประดับเป็นต้น หากบ้านไหนปลูกต้นไม้ในกระถางและเป็นกระถางขนาดใหญ่ให้ ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจาน กระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือน ทุกซอกทุกมุมให้สะอาด ปราศจากความอับชื้น ที่สำคัญ ทำลายเศษวัสดุที่ไม่ใช้และโละทิ้งของที่คิดว่าเผื่อจะใช้ในอนาคต อันเป็นแหล่งพักผ่อนของยุงลายด้วย

สำหรับคุณแม่บ้านที่ต้องการป้องกันแต่เนิ่น ๆ หวังผลให้ฤทธิ์ควบคุมยาว 3 เดือนโดยประมาณ แนะนำให้ใช้ ทรายอะเบท เพราะทรายชนิดนี้เป็นทรายเคลือบสารเคมีในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต ใช้ใส่น้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ในอัตราส่วน ทรายอะเบท 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ซึ่งทรายอะเบทจะใช้ได้ผลดีกับแหล่งน้ำนิ่งที่ค่อนข้างสะอาด แต่ทรายอะเบทมีราคาค่อนข้างแพงและหาซื้อยาก จึงควรใช้ในกรณีที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายพันธุ์ของยุงลายแล้วและไข้เลือดออกระบาดหนักแล้ว การใช้ทรายอะเบทจะไม่ทันการ เพราะทรายอะเบทเป็นเคมีที่ใช้ฆ่าลูกน้ำ แต่ไม่ได้ฆ่าตัวยุงเต็มวัย

อีกวิธีเป็นของหาง่ายภายในบ้าน ได้แก่ เกลือแกง, น้ำส้มสายชู และ ผงซักฟอก เอาไปใส่ที่จานรองขาตู้กับข้าว เท่านี้ก็ป้องกันการวางไข่ได้แล้ว ยิ่งบ้านไหนเลี้ยงปลากินลูกน้ำ อาทิ ปลาหางนกยูง, ปลาสอด, ปลากัด ด้วยจะดีมาก

หากป้องกันแล้ว แต่ยังพลาดโดนยุงกัด ลองสังเกตเบื้องต้นตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ (http://visitdrsant.blogspot.com) ว่าใช่ไข้เลือดออกหรือไม่ ในข้อมูลระบุว่า ไข้เลือดออกหรือ Dengue Hemorrhagic Fever (DHF) เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี เป็น โรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยมีพาหะคือยุงลาย เมื่อเชื้อเข้ามาสู่ตัวคนแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-14 วัน จากนั้นจึงเข้าระยะเป็น ไข้สูงอยู่นาน 2-7 วันจากปฏิกิริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามกำจัดเชื้อ อาจชักเพราะไข้สูง อาจมีจุดเลือดออกตามตัว มีตับโตเนื่องจากเกิดการอักเสบที่ตับแล้ว

เมื่อไข้เริ่มจะลงก็เข้าสู่ระยะช็อก จากการที่ผนังหลอดเลือดที่เกิดการอักเสบจนปล่อยให้สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้นแต่ปริมาตรเลือดลดลงจนไม่พอไหลเวียน ผู้ป่วยจะมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ไม่ถ่ายปัสสาวะ ชีพจรเบาและเร็ว มีเลือดออกง่าย เพราะเกร็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ถ้าโรคเป็นมากก็ช็อกจนเสียชีวิตได้ ระยะนี้จะนาน 1-2 วัน เมื่อผ่านไปได้ก็จะเข้าระยะพักฟื้น คือค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โรคนี้มีอัตราตายต่ำกว่า 1% แต่ถ้ามีอาการช็อกจะมีอัตราตายสูงถึง 12-44% การวินิจฉัยโรคนี้ต้องเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้เลือดออก หรือตรวจหาตัวเชื้อ (antigen) ไข้เลือดออกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ หากไข้ไม่ลด 2-3 วัน แนะนำพบแพทย์


อีก 2 เดือนระวังอันตราย ยุงลายรวมพลถล่มไทย!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์