ทำไมผู้ชายชอบสัญญา...และสาบาน?


บทความของ : ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์)

           เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปทำสัมมนาเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พนักงานบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่ง
           มีคำถามจากผู้ฟังขึ้นมาว่า
           “ทำไมผู้ชายชอบสาบาน...และสัญญาต่อหน้าคนอื่น แล้วทำไม่ได้”
           คนถามคงเป็นผู้หญิง และคงจะผิดหวังจากผู้ชายที่ชอบสัญญาและสาบาน แล้วทำไม่ได้ดังคำสัญญาสาบาน
           ขอตอบว่า...
           ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ชอบสาบานและสัญญาหรอก
           สุภาพบุรุษยุคใหม่เขาไม่นิยมสาบาน - สัญญาพล่อยๆ หรอก
           มีแต่พระเอกยุคโบราณหรืออัศวินยุคล่าอาณานิคม ที่นิยมสัญญาและสาบานต่อหน้ามวลชนหรือต่อหน้าสตรีที่รัก
           ทำให้แลดูเป็นฮีโร่ หรือยิ่งใหญ่
           แต่ตอนนี้ ขณะนี้ ใครขืนสัญญา สาบาน บ่อยๆ ด้วยถ้อยคำหนักๆ ต่อหน้าคนอื่น แทนที่จะมีคนนับถือเขากลับนึกว่าคนๆ นั้นเป็นคนแปลก เชื่อถือได้ไหม ?
           คนที่ชอบสัญญา สาบาน นั้น มักจะตระหนักดีว่าตัวเองมีความด้อย (Inferiority) อยู่ ขาดความน่าเชื่อถือ ด้อยความสามารถ หรือบังคับใจตัวเองได้ยาก จึงเอ่ยคำสาบานหรือสัญญาที่แลดูสูงส่งต่อหน้าผู้อื่นให้ได้ยิน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดีขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น น่าเกรงขามขึ้น เป็นการสร้างอีโก้ชนิดปลอม (Pseudo Ego) 
           ข้อความที่สัญญานั้นมักเกินจริง ทำไม่ได้จริง หรือสาบานให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา ก็มักจะเกิดไม่ได้จริง เช่น ถ้าผิดคำสาบานก็ให้มีอันเป็นไป ตาย...ภายใน 3 วัน 7 วัน
           คำสัญญาที่ทำได้ยากนั้น เมื่อพูดออกไปแล้วอาจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสบายใจขึ้นชั่วคราว เช่น สัญญาจะเลิกเหล้า เลิกยา เลิกเจ้าชู้ เลิกการพนัน ฯลฯ
           หนักขึ้นไปอีกถึงขั้นสาบานว่า ถ้าเลิกไม่ได้ ทำไม่ได้ ก็ขอให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานาเหมือนแช่งตัวเองล้วนทำได้ยาก (คำสาบาน)

 คนที่ชอบสัญญา สาบาน นั้น มีสาเหตุมาจาก
          1. ติดขนบธรรมเนียมโบราณ เอาอย่างนวนิยาย ละคร ตำนาน หรือเรื่องเล่าขานในอดีต ซึ่งมักจะให้พระเอกหรืออัศวิน สัญญา – สาบานในเรื่องการรบหรือเรื่องรัก ซึ่งมักจะจบด้วยความตายหรือความแค้นอาฆาต
          2. เพื่อยกภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดีขึ้น ลดความรู้สึกด้อยในใจของตนเอง ทำให้คนอื่นเชื่อถือ หรือเกรงขาม ศรัทธาในคำสัญญา – สาบาน เป็นการสร้างอีโก้ปลอมๆ (Pseudo Ego) ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเป็นคนยิ่งใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เลย 
          สิ่งที่สัญญา – สาบานนั้นมักทำไม่ได้หรือไม่ได้ตั้งใจทำ จึงทำให้คนเบื่อหน่ายและหมดศรัทธาความน่าเชื่อถือ 
          3. เป็นการแก้ตัว เอาตัวรอดหรือชอบโกหก มักเป็นพวกชอบหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง แก้ตัวเก่ง เอาตัวรอด โดยไม่คำนึงถึงอนาคต
เท่าไรนัก
          เมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าหรือจวนตัว ก็แก้ตัวหรือสัญญา – สาบานไปเรื่อยๆ 
          เหมือนคนที่ชอบโกหกเอาตัวรอดไปวันหนึ่งๆ ไม่จริงจังกับคำสัญญาสาบานนั้น
          4. ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ มักเป็นพวกคิดการณ์ใหญ่ แต่ทำไม่ได้ ชาวบ้านเรียกว่า ‘โม้’ หรือดีแต่พูด การสัญญา – สาบานจึงเป็นอุปกรณ์สร้างความน่าเชื่อถือที่มักเชื่อถือไม่ได้ เพราะทำไม่ได้หรือไม่ทำ พวกนี้มักจะจับผิดคนอื่นเก่ง ขี้อิจฉา ยอกย้อน หรือสาปแช่งพวกตรงข้ามได้ง่ายๆ 
          คนที่ชอบสัญญาบ่อยๆ มักทำตามคำสัญญาไม่ได้
          และคนที่ชอบสาบานเรื่อยๆ ก็มักทำตามคำสาบานไม่ได้
          ถ้าใครทวงถามคำสัญญา – สาบานก็จะแก้ตัวหรือโกรธเคืองไปเลย เข้าข่ายพาลหาเรื่องต่อไป
          ใครที่อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้และฟังคำสัญญา - สาบานบ่อยๆ ก็คงจะทราบดีว่าเขาทำไม่ได้
          ผู้ชายมักจะชอบสัญญา – สาบานมากกว่าผู้หญิง เพราะเขาจะคิดว่าเป็นลักษณะของฮีโร่ ซึ่งเขาเข้าใจผิด พบได้บ่อยๆ ในพวกนิยมการสร้างอำนาจ แย่งชิงตำแหน่ง หรือต้องการสร้างศรัทธาให้ประชาชน
          คนยุคนี้ถ้าได้เห็นใครสัญญา – สาบานบ่อยๆ เขาจะนึกว่าขี้โม้ ทำไม่ได้หรอก และไม่น่าเชื่อถือ
          แต่ถ้าใครจะอยากตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่างจริงจังในสิ่งที่ดี และอยากให้เป็นการเตือนใจตัวเองเอาไว้ เขาจะใช้วิธี ‘อธิษฐาน’ คนเดียวเงียบๆ ในใจ
          การอธิษฐาน คือการตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ดีงาม (หรืองดสิ่งที่ไม่ดี) แต่ไม่ใช่เป็นการขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ในสิ่งนั้น หรือขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ
          สุภาพบุรุษ (สตรี) ยุคนี้ จึงควรจะรู้จักการอธิษฐานให้ดี ให้เป็น
          ไม่จำเป็นต้องสัญญา – สาบานต่อหน้าคนอื่นให้ได้ยินชนิดหวาดเสียว หวือหวา หรือหยาบคาย แล้วก็ไม่ทำ หรือทำไม่ได้
          ซึ่งแลดูน่าเกลียด น่ากลัว มากกว่าน่านับถือ 

ทำไมผู้ชายชอบสัญญา...และสาบาน?


ขอบคุณ : Hug Magazine


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์