ยิ่งกดไลค์ ยิ่งเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง


ยิ่งกดไลค์ ยิ่งเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ระบบอัลกอริธึมในการวิเคราะห์การกดไลค์ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวอเมริกัน จำนวน 58,466 คน เพื่อทำการคาดเดาถึงบุคลิก พฤติกรรม ที่สามารถเดาไดัว่าผู้ใช้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติดหรือไม่

เดวิด สติลเวล นักวิจัยจากเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมศึกษา กล่าวว่า การศึกษาให้ผลที่น่าประหลาดใจ เพราะสามารถทำนายศาสนา แนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ และเพศสภาพของผู้ใช้ ได้อย่างแม่นยำ

เฟซบุ๊กเริ่มนำปุ่ม"ไลค์"มาใช้เมื่อปี 2009 ทำให้เครื่องหมาย"ชูหัวแม่มือ"กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เฉลี่ยวันละ 2.7 พันล้านไลค์

ผลการศึกษาพบว่า การกดไลค์ในเฟซบุ๊ก สามารถเชื่อมโยงไปถึง เพศสภาพ อายุ ชาติพันธุ์ ไอคิว ศาสนา แนวคิดทางการเมือง การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาเสพติด อีกทั้งสถานภาพความสัมพันธ์ จำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก

ผลการกดไลค์ดังกล่าวถูกนำไปวิเคราะห์ผ่านขั้นตอนวิธีแบบอัลกอริทึม และจับคู่กับข้อมูลจากผลการทดสอบบุคคลิกภาพ การทดสอบดังกล่าวมีความแม่นยำสูงถึง 88% ในการวิเคราะห์เพศชาย และจะมีความแม่นยำสูงถึง 95% เมื่อต้องจำแนกความแตกต่างระหว่างประชากรเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และคอเคเชียน-อเมริกัน และสูงถึง 85% ในการจำแนกผู้ที่ภักดีต่อพรรครีพับลิกันและเดโมแครต

ขณะที่ชาวคริสเตียนและมุสลิม วิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำในการแยกความแตกต่าง 82% ขณะที่ความแม่นยำของการทำนายพฤติกรรมการใช้สารเสพติดอยู่ระหว่าง 65% และ 73% และสามารถทำนายว่าคนนั้นมีพฤติกรรมรักร่วมเพศได้หรือไม่สูงถึง 88%

ผลการศึกษาดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อบริษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการจูงใจผู้ใช้ผ่านช่องทางการตลาดส่วนบุคคล แต่นักวิจัยเตือนว่าผู้ใช้อาจต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามความเป็นส่วนบุคคล ไมเคิล โคซินสกี หัวหน้านักวิจัยในดครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่ระบบของเฟซบุ๊กจะขึ้นโพสต์ในนิวส์ฟีดที่ตรงกับตัวผู้ใช้ แต่ข้อมูลและเทคโนโลยีดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในการคาดเดาแนวคิดทางการเมือง หรือความเป็นเพศสภาพของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกหรือกระทั่งชีวิตส่วนบุคคลได้

วิธีที่ดีที่สุด คือผู้ใช้เองต้องเลือกที่จะเปิดเผยและไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเองต่อสาธารณะ มิใช่ให้เฟซบุ๊กคอยกำหนดความเป็นไป ผลการวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องเตือนใจผู้ใช้สื่ออนไลน์ ที่คดว่าการตั้งค่าในระบบ"ไพรเวซี เซ็ตติง"ในเฟซบุ๊กเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องข้อมูลในออนไลน์ แต่ผู้ใช้ควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า ข้อมูลมากเท่าใดที่เราเลือกจะเผยแพร่ต่อสาธารณะ

การกดไลค์โพสต์หรือหน้าเพจอาจดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก

แต่มันอาจทำให้บุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดประเภทและทำนายพฤติกรรมในวิธีที่เกินเลยและอ่อนไหวกว่าที่เราคาดคิด



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์