‘อ้วน’ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์!


อ้วน คำล้อเลียนสั้น ๆ ที่ทำให้คนถูกทักเสียความมั่นใจไปได้ง่าย ๆ นั่นเพราะคำนี้มีความหมายโดยตรงต่อความรู้สึกกับรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นในชั่วพริบตา


แล้วทำไมถึง อ้วน? คำตอบก็คือ กิน กิน กิน จนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการและขาดการออกกำลังกาย กรณีนี้เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่พฤติกรรมอีกอย่างที่ทำให้คนเราอ้วนโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั่นคือ การกินอาหารที่มีรสชาติถูกปาก

ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการอำนวยการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน เมื่อความอ้วนมาป่วนผิว จัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ว่า การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการกินขนมหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ล้วนให้แคลอรี่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และเป็น น้ำตาลที่มาจากข้าวโพด หรือเรียกกว่า น้ำตาลฟรักโตส เพราะน้ำตาลชนิดนี้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าน้ำตาลอ้อย แต่ให้ความหวานมากกว่า ทำให้รู้สึกหิวตลอด

“สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เมื่อกินไปนาน ๆ จะทำให้อ้วนมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานมากกว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจริง ๆ เสียอีก ซึ่งอาหารที่ไร้ไขมันหรือไขมันต่ำจะใส่น้ำตาลปริมาณมาก เพื่อชดเชยกับรสชาติที่สูญเสียไป ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะผู้บริโภคคิดว่าอาหารดังกล่าวกินแล้วจะดีต่อสุขภาพ” ดร.นพ.เวสารัช กล่าว

สำหรับวิธีสำรวจว่าตัวเราอ้วนหรือไม่ นอกจากส่องกระจกแบบยอมรับความจริงแล้ว ดร.นพ.เวสารัช ยังแนะนำให้วัดจากดัชนีมวลกาย โดยคำนวณจาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ค่าที่ออกมาแสดงระดับดังนี้

ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 แสดงว่า ผอม, 18.5-24.9 แสดงว่า ปกติ, 25.0-29.9 แสดงว่าท้วม, 30.0-34.9 แสดงว่า อ้วนระดับ 1, 35.0-39.9 แสดงว่า อ้วนระดับ 2 และมากกว่าหรือเท่ากับ 40.0 แสดงว่า อ้วนระดับ 3

สิ่งที่ตามมากับความอ้วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ความไวต่อโรคภัยไข้เจ็บ แบ่งเป็นการแสดงผลภายในและภายนอก

โรคภายในของความอ้วนจะสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมตะบอลิก ประกอบด้วย ไขมันสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง สังเกตความเสี่ยงได้จากผู้ชายที่รอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว และผู้หญิงรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว ค่าข้างต้นพบว่าคนอ้วนเกือบร้อยละ 70 มีกลุ่มอาการดังกล่าว

ส่วนโรคภายนอกสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากผิวหนังที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะอนุกรรมการวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยว่า ผิวหนังของผู้ป่วยโรคอ้วนมักมีการสูญเสียน้ำมากกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการผิวแห้งแดงอักเสบได้ง่าย หรือบางครั้งเมื่ออยู่ในที่อบอ้าว จะมีเหงื่อไหลออกมาก เนื่องจากมีชั้นไขมันที่หนา ส่งผลให้เกิดความอับชื้นบริเวณซอกพับได้มาก ทำให้การระบายของเสียกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทางหลอดเลือดน้ำเหลืองไม่สะดวก เกิดมีเส้นใยคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ไม่แข็งแรง หากเป็นแผลจะทำให้แผลหายช้ากว่าคนปกติ และยังพบว่ามีอัตราการไหลเวียนเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณไขมันมาก เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังหดและมีการขยายตัวที่ผิดปกติ

โรคผิวหนังที่พบบ่อยของผู้ป่วยโรคอ้วน ได้แก่ ผิวหนังเป็นปื้นดำหนาขรุขระดูคล้ายผ้ากำมะหยี่ พบได้ตามซอกพับ บางครั้งพบคู่กับติ่งเนื้อจำนวนมาก, โรคขนคุด, โรคที่เกี่ยวกับเซลลูไลท์หรือผิวเปลือกส้ม, โรคติดเชื้อบริเวณซอกพับ, โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง, โรคสะเก็ดเงิน และโรคเก๊าท์ อย่างไรก็ตาม เมื่อลดน้ำหนักแล้ว จะพบว่าโรคผิวหนังดังกล่าวจะมีอาการดีขึ้น ปื้นดำจะเบาบางลง ขนคุดราบลงได้ หรือแม้กระทั่งโอกาสการติดเชื้อและผื่นผิวหนังอักเสบจากการเสียดสีจะลดลงได้มาก

อยากลดความอ้วนต้องทำอย่างไร? ดร.นพ.เวสารัช บอกว่า หลักการลดความอ้วนที่ประสบความสำเร็จคือ ต้องตั้งใจมั่น มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกาย ตลอดจนแรงจูงใจ หลีกเลี่ยงอาหารที่แคลอรี่สูง เช่น ของทอด ฟาสต์ฟู้ด งดเครื่องดื่มที่มีความหวาน และอาหารเสริม โดยเฉพาะอาหารเสริมไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถทำให้น้ำหนักลดได้จริง เนื่องจากไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ที่เผยแพร่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่า ความอ้วน นำมาซึ่งความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนั้น การลดความอ้วนอย่างถูกวิธี ทำให้มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม สามารถช่วยรักษาสุขภาพได้จากภายในสู่ภายนอกร่างกาย ส่งผลต่อเนื่องให้มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์


‘อ้วน’ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์