ปวดหัว ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างคิด


ถ้าลองคิดทบทวนถึงอาการปวดศีรษะ หลายคนอาจรู้สึกว่า อาการนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดศีรษะที่ตนเองเผชิญนั้น ตามคำอธิบายทางการแพทย์เป็นอย่างไร?

นพ.บัญชา เสียมหาญ อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยว่าปวดศีรษะ เป็นโรคสำคัญ พบได้บ่อย ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยได้มาก ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากภาวะร้ายแรง แต่อาการปวดศีรษะจำเป็นต้องวินิจฉัยและรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะบางกรณีอาจเป็นอาการนำของโรคอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักปวดศีรษะแบบตึงตัว ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะแบบกลุ่ม และปวดศีรษะแบบเรื้อรังทุกวัน

ปวดศีรษะแบบตึงตัว แบบนี้พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากความเครียด เหนื่อย ทำงานหนัก ลักษณะการปวดมักเป็นแบบแน่นๆ หรือรัดๆ ทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ ระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง อาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วย แต่อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และไม่ทำให้คลื่นไส้อาเจียน

ส่วนการปวดศีรษะไมเกรน ก็ยังพบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยทำงาน และมักได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด ลักษณะการปวด คือ ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการจะแย่ลงอีกหากเจอสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งแสง เสียง หรือกลิ่น ผู้ป่วยบางรายมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไมเกรนส่วนใหญ่มักจะปวดนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป บางรายอาจปวดนานถึง 3 วัน

ปวดศีรษะแบบกลุ่ม พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง  การปวดศีรษะชนิดนี้มักเกิดในชายมากกว่าหญิง โดยอาการปวดจะรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย มักเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน จะปวดอยู่นาน 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับซึ่งมักเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าด้านที่มีอาการปวดศีรษะ

สุดท้าย การปวดศีรษะแบบเรื้อรังทุกวัน มักมีอาการปวดนานกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะแบบตึงตัวหรือแบบไมเกรนก็ได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาเกิน เพราะถูกวินิจฉัยผิดพลาด การซื้อยากินเอง การใช้ยาแก้ปวดบ่อยเกินไป ส่งผลให้ปวดศีรษะเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ปวดศีรษะได้อีก เช่น ภาวะไซนัสอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ MRI เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายออกไป

แม้อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ นพ.บัญชา เตือนว่า จะมีการปวดศีรษะบางลักษณะที่เป็นสัญญาณอันตราย บ่งชี้ว่าผู้นั้นกำลังมีเลือดออกในสมอง หรือติดเชื้อในระบบประสาท หากเกิดขึ้นกับใคร ต้องรีบพบแพทย์ อาการที่ว่านี้คือ ปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด ปวดศีรษะร่วมกับมีไข้และคอแข็ง ปวดศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง สับสน บุคลิกภาพเปลี่ยน ปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV และปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา.


ปวดหัว ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างคิด

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์