เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


บ่อยครั้งที่นักเดินทางต้องเผชิญกับเที่ยวบินที่แวะจอดพักนานหรือล่าช้าจนรู้สึกเหมือนกับต้องติดแหงกอยู่ในสนามบิน

นักเดินทางที่ไม่มีเวลามากพอที่จะออกจากสนามบินมักจะยอมจ่ายเงินเพื่อใช้บริการในห้องรับรองพิเศษหรือนั่งรอในร้านอาหารที่มีบริการไวไฟฟรี

นักเดินทางหลายคนเลือกที่จะผ่อนคลายในที่พักแคปซูลในสนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ บางแห่งก็สร้างเหมือนโบกี้รถไฟกำลังเป็นที่นิยมกันมากตั้งแต่สนามบินในยุโรปไปจนถึงประเทศสหรัฐอเมริกา

มินิท สวีท (Minute Suites) ที่พักแคปซูลในสนามบินในสหรัฐอเมริกาเริ่มให้บริการห้องพักจำนวน 13 ห้องที่สนามบินนานาชาติฟิลาเดลเฟียในช่วงปลายปี 2009 และจำนวน 5 ห้องที่สนามบินนานาชาติแอตแลนต้าในปี 2011 ห้องพักแต่ละห้องมีขนาด 6 ตารางเมตร ภายในห้องมีเตียงนอนพร้อมผ้าปูที่นอนและหมอน นาฬิกาปลุก ทีวีระบบเอชดี โต๊ะทำงาน เก้าอี้พร้อมโทรศัพท์ เหมาะสำหรับนักธุรกิจ ค่าบริการชั่วโมงละ 900 บาท เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

แดเนียล โซโลมอน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของมินิท สวีทและเพื่อนๆ ในบริษัทต่างเคยทำงานด้านการดูแลสุขภาพมาก่อน กล่าวว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการสร้างสรรค์สุขภาวะที่ดีให้นักเดินทางที่มักจะเหน็ดเหนื่อยหรือรู้สึกไม่สบายจากภาวะการนอนไม่หลับบนเครื่องและพฤติกรรมการทานอาหารที่แย่ในช่วงรอเปลี่ยนเครื่อง

โยเทล (Yotel) เป็นที่พักแคปซูลในสนามบินแกตวิคและฮีทโธร์วในกรุงลอนดอน อังกฤษ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2007 และที่สนามบินสคิบฮอลในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ในปี 2008 แต่ละสนามบินมีห้องพักจำนวนตั้งแต่ 32 ห้องไว้คอยบริการ โยเทลถูกออกแบบและตกแต่งภายในให้เหมือนกับห้องโดยสารชั้นเฟิร์ทคลาสบนเครื่องบิน มีทั้งห้องธรรมดาและห้องพรีเมียม สนนค่าบริการอยู่ที่ราว 1,100 - 1,800 บาทต่อ 4 ชั่วโมง สามารถจองล่วงหน้าได้หนึ่งชั่วโมง มีบริการเช็คอินและเช็คเอาท์อัตโนมัติ ภายในห้องมีเตียง ไวไฟฟรี คอมพิวเตอร์ ฝักบัวอาบน้ำและทีวีจอแบน

โจ เบอริงตัน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโยเทลบอกว่า ทางโรงแรมมีแผนจะขยายบริการที่พักแคปซูลในสนามบินอีกหลายแห่ง โดยได้มีการพูดคุยกับสนามบินในสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งพวกเขาก็เล็งเห็นถึงโอกาสอันดีในการเพิ่มบริการสถานที่พักผ่อนช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมงระหว่างนั่งรอเปลี่ยนเครื่องหรือพักค้างคืนก่อนออกเดินทางด้วยเที่ยวบินเช้าตรู่

แนพแคบส์ (Napcabs) เป็นบริการที่พักแคปซูลของบริษัทเยอรมัน ห้องพักขนาด 4 ตารางเมตรแบบบริการตนเอง เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เตียงขนาดใหญ่ โต๊ะทำงานและเครื่องปรับอากาศ นักเดินทางสามารถเช่าห้องพักเป็นรายชั่วโมงได้ ค่าบริการอยู่ที่ 380 บาทต่อชั่วโมงในช่วงกลางวัน และ 1,180 บาทต่อชั่วโมงในช่วงกลางคืน ลูกค้าเพียงแค่รูดบัตรเครดิตที่ประตูห้องก็เข้าพักได้เลย ปัจจุบันมีบริการเฉพาะที่สนามบินเมืองมิวนิก เยอรมนีเท่านั้น แต่มีแผนที่จะขยายการบริการไปยังสนามบินทั่วโลก

ยอร์ก โพห์ล โฆษกของแนพแคบส์ บอกว่า แขกผู้เข้าพักสามารถผ่อนคลายและพักฟื้นร่างกายจากความอ่อนล้าได้ที่แนพแคบส์ นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2008 มีแขกราว 5,500 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่รอเปลี่ยนเครื่องเข้าพักที่นั่น และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

สนูซคิวบ์ (SnoozeCube) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ให้บริการห้องพักจำนวน 10 ยูนิตที่มีระบบป้องกันเสียงรบกวนและมาพร้อมกับเตียง โทรทัศน์ ไวไฟฟรี และที่ชาร์จอุปกรณ์อีเลคโทรนิคส์ ค่าบริการอยู่ที่ชั่วโมงละ 500 บาท

นัมเบอร์วัน ทราเวลเลอร์ (No 1 Traveller) เป็นผู้ให้บริการห้องพักกล่องสี่เหลี่ยมที่มีเตียง ห้องอาบน้ำในตัว ทีวีและไวไฟที่สนามบินฮีทโธร์ว กรุงลอนดอน เปิดบริการตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงสี่ทุ่ม

วี-เอ็กซ์เพรส (V-Express) และ สลีพบ๊อกซ์ (Sleepbox) เป็นที่พักแคปซูลที่สนามบินเชเรเมเตียโวในกรุงมอสโคว์ รัสเซีย

แนวคิดที่พักแคปซูลในสนามบินมีที่มาจากโรงแรมแคปซูลในญี่ปุ่นที่กำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1980 และเป็นบริการที่ดึงดูดนักเดินทางที่กำลังมองหาสถานที่สำหรับพักสายตาหรือทำงานในห้องส่วนตัวโดยไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าโรงแรมหรือต้องออกจากสนามบิน

"ที่พักแคปซูลอาจจะเป็นตัวเลือกราคาถูกสำหรับนักเดินทางที่รอเปลี่ยนเครื่อง แต่มันไม่ใช่ที่พักที่เหมาะสำหรับการพักผ่อนในวันหยุด แต่ก็ยังดีกว่าตั้งแคมป์หรือกางเต็นท์กลางสนามบิน" ซีบีลล์ ซูช จากสมาคมการท่องเที่ยวเยอรมันในกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมโรงแรมกล่าว

ในขณะที่ซีบีลล์ไม่แน่ใจว่ากล่องนอนในสนามบินจะกลายเป็นที่พักยอดนิยมของคนทั่วโลก ทางสมาคมโรงแรมของเยอรมันเองก็เชื่อว่าไอเดียนี้คงจำกัดอยู่แค่ตลาดในยุโรป

"ความจำเป็นและความต้องการในการพักผ่อนหรืองีบหลับสำหรับผู้โดยสารชาวยุโรปและชาวเอเชียต่างกันมาก" เบเนดิก โวลเบ็ค โฆษกสมาคมกล่าว

...........................
ที่มา : เว็บไซต์บีบีซีและสำนักข่าวดีพีเอ


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล


เหนื่อยนัก (แวะ) พักที่แคปซูล

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์