แต่งงานแล้ว รวมหรือแยก บัญชี ดีกว่า


นักวางแผนการเงินชื่อดัง แนะผู้หญิงวางแผนบัญชีก่อนและหลังแต่งงาน ทำอย่างไรให้ชีวิตคู่มีความสุข

คู่สามีภรรยาที่ต่างมีเงินได้ หลายคู่แลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินซึ่งกันและกัน วางแผน และเดินไปด้วยกันอย่างมั่นใจ แต่ก็มีคู่สามีภรรยาอีกหลายคู่ที่ให้ความเห็นว่า การถามเรื่องเงินทองเป็นเรื่องผิดมารยาท รุกล้ำความเป็นส่วนตัว

ภรรยาบางคนไม่กล้าถามสามี เพราะกลัวสามีจะคิดว่าจู้จี้จุกจิก ก่อนแต่งก็ไม่กล้าคุย หลังแต่งยิ่งไม่กล้าคุย สังคมไทยอึดอัดที่จะซักกันเรื่องเงินๆ ทองๆ แม้จะเป็นสามีภรรยา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นกระเป๋าใบเดียวกันก็เถอะ

Saving On a Shoestring แต่งโดยบาร์บารา โอนีล นักวางแผนทางการเงินชื่อดังของสหรัฐ แนะนำเรื่องการวางแผนทางการเงินสำหรับผู้หญิงก่อนแต่งและหลังแต่งงาน ระบุว่า เงินเป็นเรื่องของอำนาจ เงินในกระเป๋าของแต่ละฝ่าย จึงมีนัยของการต่อรองทางอำนาจ คำแนะนำคือให้คุยกัน เพราะเมื่อจะร่วมหัวจมท้ายกัน ต้องวางแผนการเงินร่วมกัน

“หลายคู่พบอุปสรรค ทะเลาะ แยกทาง หรืออย่างน้อยก็ไม่พอใจต่อการใช้เงินของอีกฝ่าย ความรู้สึกที่สั่นสะเทือนคู่สมรสได้มากที่สุดคือความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียม ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกที่ว่า อีกฝ่ายมีฐานะการเงินเหนือกว่า หรือต้องพึ่งพาทางการเงินของอีกฝ่าย”

ภรรยาที่มีรายได้จะคิดว่า ฉันทำงานและฉันต้องมีส่วนในการตัดสินใจ ขณะที่สามีรู้สึกว่าถูกลดทอนอำนาจ จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนของอำนาจขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ภรรยาหาได้ต่อรายได้ทั้งหมด ยิ่งภรรยาหารายได้ หรือมีสัดส่วนต่อรายได้ทั้งหมดสูงขึ้นเท่าไหร่ อำนาจของเธอก็สูงขึ้นเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ไม่สำคัญว่าใครหาเงินได้เท่าไหร่ ความสุขจากเงินหรืออำนาจจากการใช้เงิน ท้ายที่สุดแล้วคือทัศนคติเรื่องเงินที่ฝังลึก การแก้จึงไม่ใช่แค่เรื่องตัวเงิน แต่เป็นการปรับตัวปรับใจเรื่องคุณค่า (ค่านิยม) เรื่องเงิน

บัญชีร่วมหรือบัญชีเดียวดีกว่า?

การแต่งงานไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ฝ่ายหญิงจะทำงานมีรายได้หรือไม่ คุณผู้หญิงก็ต้อง (ร่วม) ตัดสินใจว่า จะจัดการกับรายได้ที่มีอยู่อย่างไร แนวทางที่เลือกใช้ในการแบ่งรายได้ จะมีผลต่อบัญชีเงินออมและบัญชีกระแสรายวันของทั้งคู่ สำหรับบัญชีร่วมทั้งสามีและภรรยา ทั้งคู่ต่างมีสิทธิในการจัดการกับบัญชีเท่ากัน ขณะที่บัญชีเดี่ยว ใช้ชื่อแยกกันระหว่างสามีและภรรยา บัญชีทั้งสองประเภทมีข้อดีข้อเสีย

สำหรับบัญชีร่วม มีข้อดีทำให้ทั้งสามีและภรรยา ต่างมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม ในด้านลบอาจมีปัญหากรณีที่ฝ่ายใดเสียชีวิต หรือในกรณีหย่าร้าง อีกฝ่ายชิงถอนเงินไปหมดบัญชีก็เคยมีมาแล้ว ส่วนการแยกบัญชีกัน เอื้อต่อการสร้างประวัติทางการเงินส่วนบุคคลที่ดี โดยเฉพาะกับฝ่ายหญิง เมื่อขอกู้สินเชื่อกับสถาบันการเงิน ก็สามารถทำได้ด้วยตัวของตัวเอง

เงินของใครก็อยู่ในบัญชีของคนนั้น เมื่อฝ่ายใดเสียชีวิต อีกฝ่ายจะใช้เงินของอีกฝ่ายได้ต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นลง มองเป็นข้อดีได้ในมุมที่คู่สมรสแต่ละฝ่ายใช้เงินของอีกฝ่ายไม่ได้ การมีบัญชีแยกกันยังมีประโยชน์เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดมีภาระทางการเงิน เช่น การอุปการะเลี้ยงดูญาติทางฝ่ายตัว หรือบุตรภรรยาจากการสมรสครั้งก่อน เป็นต้น ก็จัดการไปเป็นส่วนตัว เพราะบัญชีแยกจากกัน


การจัดสรรรายได้



เมื่อตัดสินใจจะใช้บัญชีร่วมกันหรือแยกกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันคิดว่าจะจัดสรรรายได้กันอย่างไร มี 3 แนวทางในเรื่องนี้ เผื่อจะช่วยให้คุณ (ผู้หญิง) วางแผนได้ง่ายขึ้น

1.ออกค่าใช้จ่ายคนละเท่าๆ กัน

ให้ออกเงินฝ่ายละเท่ากัน เช่น คนละ 1.5 หมื่นบาท จากเงินเดือนที่แต่ละฝ่ายได้รับ นำไปฝากบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน เป็นบัญชีกลางที่ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว หักค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่าอาหาร ฯลฯ และบางส่วนแบ่งเป็นเงินลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินในอนาคต

เงินส่วนที่เหลือของแต่ละฝ่าย ก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างที่ต่างฝ่ายต่างต้องการ เป็นอิสระแก่กัน ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เมื่อรายได้ของทั้งคู่ไม่เท่ากัน ฝ่ายที่รายได้น้อยจะเซ็งที่ต้องจ่ายเท่ากับคนที่มีเงินเดือนเยอะกว่า

2.ออกค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนรายได้

แต่ละฝ่ายออกเงินตามสัดส่วนรายได้ของตน รายได้มากจ่ายมาก รายได้น้อยจ่ายน้อย เช่น 65% ของรายได้สำหรับฝ่ายชาย และ 35% ของรายได้ฝ่ายหญิง เงินที่เหลือแต่ละฝ่ายนำไปใช้ได้ตามต้องการ ข้อดีคือแต่ละฝ่ายออกเงินตามความสามารถในการจ่าย แต่ปัญหาคือความขัดแย้งกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ว่า สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ที่แต่ละฝ่ายควรจ่าย

3.นำรายได้มารวมเป็นกองเดียว

ข้อดีคือ ไม่ต้องคิดมาก มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน จ่ายทั้งรายจ่ายของครอบครัวและรายจ่ายส่วนตัวของแต่ละคน ข้อดีคือ เป็นการให้คุณค่าทัดเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเงินที่แต่ละฝ่ายหาได้ คนที่หารายได้ได้น้อยกว่าไม่เสียเปรียบ หรือมีอำนาจซื้อน้อยเพราะมีรายได้น้อยกว่า แต่ข้อเสียคือแต่ละฝ่ายที่อาจจะอึดอัดขัดข้อง ในการอธิบายค่าใช้จ่ายของตนกับอีกฝ่าย ในทุกๆ รายการ และบางรายการก็อาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ต่างฝ่ายต่างกันเงินค่าใช้จ่ายของตนเองไว้จำนวน หนึ่ง จะทำให้ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันยังคงอยู่ โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังมีอิสระในการใช้จ่ายส่วนบุคคลอยู่บ้าง

คู่สามีภรรยาหลายคู่เริ่มต้นจากการมีบัญชีธนาคารบัญชีเดียวร่วมกัน จากนั้นก็ค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นในอนาคต คู่ที่ยังมีอายุน้อย มีสินทรัพย์น้อย อาจเริ่มต้นด้วยการนำเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดใส่ไว้ในที่เดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่ละฝ่ายมีรายได้มากขึ้น ทั้งคู่ก็อาจแยกบัญชีกันในภายหลัง และท้ายที่สุด (ตามความจำเป็น) ก็อาจจบลงด้วยการมี 3 บัญชี (หรือกว่านั้น) เรื่องบัญชีเดียวหรือแยกบัญชีนี้ ทุกคู่ควรพิจารณาถึงนิสัยการใช้เงินของตัวและคู่ครองด้วย

ในทางตรงกันข้าม คู่ที่อายุมาก หรือฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายผ่านการสมรสหรือหย่าร้างมาก่อน ยังให้ทั้งคู่มีภาระทางการเงินที่ไม่เท่ากันตั้งแต่แรก (ส่งเสียการศึกษาบุตรจากการสมรสครั้งก่อน ฯลฯ) รวมทั้งบาดแผลจากชีวิตสมรสครั้งที่ผ่านมา ที่อาจมีผลต่อการบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของทั้งคู่ ส่วนใหญ่มักอยากแยกบัญชี ต่อเมื่อมั่นใจในความสัมพันธ์ของกันและกันมากขึ้น ก็อาจรวบเหลือบัญชีเดียว หรือเป็น 3 บัญชีในท้ายที่สุด


กฎหมายเกี่ยวกับเงินของสามีภรรยา

ไม่ว่าสามีจะพอใจในการทำมาหาได้ของภรรยาหรือไม่ กฎหมายในเรื่องภาษีก็จะต้องเข้ามามีบทบาท หากภรรยามีรายได้เช่นนี้ เพียงแต่รู้แล้วอย่าตกใจ กฎหมายกำหนดให้เงินได้ของภรรยาถือเป็นเงินได้ของสามีอีกด้วย คุณ สามีก็อย่าได้ดีใจถือโอกาสทวงรายได้มาใส่กระเป๋าตัวเอง แม้ความเป็นจริงของภรรยาจะเป็นผู้ก็บเงินได้ทั้งของตัวเองและของสามีเอาไว้ ดูแลแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ตาม ความสำคัญยังอยู่ที่ว่า

กฎหมาย ถือว่าเงินได้ของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ผลก็คือ หน้าที่และความรับผิดชอบของสามีที่จะต้องนำเงินได้ของภรรยานี้มารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีตามกฎหมายนั่นเอง และภรรยาก็อย่าเพิ่งดีใจว่า ปลดปลอดจากหน้าที่เสียภาษีทั้งหลายที่ตัวหามาได้ เนื่องจากสามีจัดการให้ตามที่กฎหมายบังคับ เพราะหากมีภาษีค้างชำระเกิดขึ้น เมื่อใด รัฐก็อาจแจ้งให้ฝ่ายภรรยาจัดการเสียโดยแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน อย่างนี้ภรรยาก็จะผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดกับสามีในการจ่ายภาษีที่ค้าง ชำระนั้น

ความจริงมันก็คนละกระเป๋าเดียวกัน แต่การนำมาคำนวณเงินได้เพื่อจ่ายภาษีในลักษณะนี้ ทำให้ฐานภาษีของสามีกว้างออกไป และนั่นหมายถึง อัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็จะขยายสูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากยิ่งมีเงินได้สุทธิมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้นเป็นการเสียหายทางการเงินแก่ครอบครัว

ยังมีทางออกในทางกฎหมาย หากปรากฎว่าเงินได้ของภรรยาตกอยู่ในส่วนที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน กฎหมายให้สิทธิภรรยาที่จะแยกวงมายื่นต่างหากจากสามีได้ โดย ไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของสามี ซึ่งเราคงเคยสังเกตเห็นได้จากแบบยื่นรายการเพื่อเสียภาษีว่ามีช่องของคู่ สมรสเอาไว้ให้ใส่เป็นรายการต่างหาก ดังนั้น หากต้องการแยกจ่ายก็ยื่นไว้ในรายการฉบับเดียวกับสามี แต่แยกคำนวณภาษีต่างหากเท่านั้น อย่างนี้ก็ทำให้สามีภรรยาเสียภาษีน้อยลงไปด้วย เพราะเมื่อไม่นำไปรวมเงินได้ ของสามี ฐานภาษีก็จะต่ำ อัตราภาษีก็จะพลอยต่ำไปด้วย

ในการยื่นรายการจะมีเรื่องการหักค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนเพื่อการศึกษา ของบุตร ถ้าแยกกันยื่นจะถือโอกาสต่างคนต่างหักลดหย่อนไม่ได้ มีลูกอยู่คนเดียวก็ต้องแบ่งกันหัก จะมาตีขลุมหักทั้งสองคนไม่ได้ ต้องแบ่งกันคนละครึ่งกับสามี แบบ นี้มีทีเด็ดอยู่ตรงที่สามีบางคนเอาลูกที่ติดกับภรรยาเก่ามาหักลดหย่อนเต็ม อัตรา เพราะภรรยาคนปัจจุบันไม่มีบุตร อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าจะแยกรายการกันออกไป แม้ลูกคนละท้องแม่ก็ต้องหักลดหย่อนคนละครึ่งอยู่นั่นเอง


แต่งงานแล้ว รวมหรือแยก บัญชี ดีกว่า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์