จากเปียงยางถึง กูเกิล เหรียญ 2 ด้านของโลกออนไลน์


จากเปียงยางถึง กูเกิล เหรียญ 2 ด้านของโลกออนไลน์

การเชื่อมต่อไปยังโลกอินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์กเปิดประตูแห่งเสรีภาพทางการแสดงออกทางความคิด 

เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มากกว่านั้นยังทำให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้สารพัน ในดีมีเสียในเสียมีดี

"เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล" นำเสนอบทความที่เขียนโดย "อีริค ชมิดท์" ประธานและอดีตซีอีโอเสิร์ชเอ็นจิ้นชื่อก้องโลก "กูเกิล" และ "จาเร็ด โคเฮน" หัวหน้าส่วนธุรกิจกูเกิลไอเดีย หลังจากเดินทางไปสำรวจศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการเปิดรับสื่ออินเทอร์เน็ตของประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่เคยมีโอกาสเห็นหน้าเพจของเว็บไซต์, ใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปหรือจับต้องอุปกรณ์อย่างแท็บเลตและสมาร์ทโฟนด้วยมือตนเองเลย นอกจากนี้พวกเขายังไม่เคยได้ยินชื่อเว็บไซต์เสิร์ชเอ็นจิ้นอย่าง "กูเกิล" หรือ "บิง" เลยแม้แต่น้อย

แม้เรื่องอินเทอร์เน็ตจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในความคิดของประชากรชาวเกาหลีเหนือ แต่เมื่อทั้งคู่มาเยี่ยมเยือนประเทศนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือใช้วิธีสาธิตพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรด้วยการให้นักเรียนเข้าดูเนื้อหาต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่ดาวน์โหลดไว้ให้แล้ว โดยนักเรียนกลุ่มนั้นใช้เมาส์เลื่อนดูเนื้อหาขึ้นลงอย่างเป็นระบบ 

ทั้งคู่ได้มีโอกาสอธิบายให้ชาวเกาหลีเหนือเข้าใจว่า คุณค่าของการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพคืออะไร รวมถึงคุณค่าของการชุมนุมอย่างเสรี, การคิดวิเคราะห์ และการแต่งตั้งผู้ปกครองจากความสามารถ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เหมาะสมกับสังคมที่ข้อมูลต้องมาจาก "ท่านผู้นำที่น่านับถือ" และไม่เหมาะกับสังคมที่มีบทลงโทษประหาร 3 ชั่วโคตรแก่ผู้ที่แสดงความต่อต้านท่านผู้นำด้วย

ซีอีโอ "กูเกิล" มองว่า เกาหลีเหนือคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมประเภทแมวจับหนูที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกใช้กับประชาชนของตน ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกโดนความแพร่หลายของเทคโนโลยีการเชื่อมโยงถึงกันเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อรัฐบาล การที่รัฐบาลเกาหลีเหนืออนุญาตให้ประชาชน 1 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือไว้ในครอบครองได้ หมายความว่าประชาชนอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในบ้างครั้ง หากโทรศัพท์เครื่องนั้นบังเอิญรับสัญญาณจากประเทศจีน สิ่งเหล่านี้คงไม่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ เมื่อใดที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ แม้แต่รัฐบาลที่เป็นเผด็จการมากที่สุดก็ยากปิดกั้นมันได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ทั้งรัฐบาลและนักปฏิวัติเห็นศักยภาพว่า แม้การปฏิวัติบนโลกดิจิทัลจะสามารถใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ก็แฝงด้านมืดที่หลายคนมักมองข้ามเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตผู้นำของรัฐบาลเผด็จการอาจได้รับแรงกระทบจากการที่ประชาชนของตนเองสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากขึ้น แต่เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยแค่กลุ่มคนดีที่ต้องการประชาธิปไตยเท่านั้น ยังสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับนักเผด็จการที่ต้องการปิดกั้นความคิดเห็นที่หลากหลาย

ปัจจุบันประชากร 57% จากทั่วโลกยังคงอาศัยอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการ ซึ่งในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ประชากรกลุ่มน้อยที่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้จะกลายเป็นกลุ่มใหญ่ ผู้นำในเมืองหลวงอย่างเตหะรานไปจนถึงนครปักกิ่งต่างพยายามสร้างเทคโนโลยีและฝึกบุคลากรเพื่อคอยปิดกั้นความคิดเห็นที่หลากหลายของประชาธิปไตย ทั้งได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทของประเทศตะวันตกในหลายครั้งด้วย 

แน่นอนว่างานดังกล่าวนี้ไม่ได้ง่าย และไม่ได้มีราคาถูก ผู้นำเผด็จการของโลกต้องลงทุนเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างระบบที่สามารถติดตามและควบคุมขุมพลังความคิดเสรีเอาไว้ให้ได้ พวกเขาจำต้องมีห้องเก็บเซิร์ฟเวอร์, ศูนย์ข้อมูลกลางขนาดใหญ่, ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษไปจนถึงบุคลากรที่มีการฝึกฝน ทรัพยากรไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังต้องมีสุดยอดคอมพิวเตอร์สำหรับจัดการแหล่งข้อมูลที่มีมากล้นเหลืออีกด้วย

นอกจากอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย บรรดาข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ปกครองเผด็จการต้องการใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและติดตามประชาชนทั่วไปต่างหาซื้อได้ตามท้องตลาด นอกจากนี้เมื่อประเทศเผด็จการแห่งใดสร้างรัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมขึ้นมาได้สำเร็จ รัฐบาลจะถ่ายทอดวิธีการสร้างให้ประเทศเผด็จการอื่น ๆ ต่อไป เหมือนการแบ่งปันข้อมูลทั่วไป แผนการปกครอง และยุทโธปกรณ์การทหารให้ประเทศพันธมิตร 

ส่วนบริษัทที่จำหน่ายซอฟต์แวร์เก็บข้อมูล, กล้องบันทึกภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะนำผลงานที่ตนทำให้รัฐบาลของประเทศหนึ่งเพื่อดึงดูดโอกาสธุรกิจ ผู้นำประเทศเผด็จการที่มีทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จะเจียดเงินมาใช้กับงานส่วนนี้ได้ 

ประเทศเผด็จการที่ไม่ได้มีฐานะดีมากนักก็จะไม่สามารถรักษาระบบดังกล่าวได้ในระยะยาว และต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากผู้ที่เห็นด้วยกับการปกครองลักษณะนี้

ข้อมูลที่ผู้นำประเทศเผด็จการเหล่านี้เลือกเก็บบันทึกไม่ได้หยุดอยู่แค่การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กหรือการแสดงความเห็นในทวิตเตอร์ แต่ในอนาคตจะขยายไปถึงการเก็บข้อมูลทางสถิติชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้ระบุตัวตนบุคคลผ่านลักษณะพิเศษต่าง ๆ ทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นรอยนิ้วมือ รูปถ่าย หรือผลการตรวจดีเอ็นเอ 

บรรดาผู้ที่มาเยี่ยมเยือนประเทศเผด็จการในอนาคตอาจต้องแปลกใจที่นอกจากต้องกรอกเอกสารเข้าประเทศและตรวจพาสปอร์ต พวกเขายังอาจต้องโดนตรวจเสียง เพราะในอีกไม่นานซอฟต์แวร์จดจำเสียงและลักษณะใบหน้าจะกลายเป็นตัวเลือกในการตรวจสอบที่เหมาะสมที่สุดจากปัจจัยเรื่องความแม่นยำและความง่ายดายในการใช้งาน โดยปัจจุบันซอฟต์แวร์ในด้านการจดจำใบหน้าแม้มีข้อจำกัดด้านความแม่นยำแต่ซอฟต์แวร์ประเภทนี้มีความก้าวหน้ามาก เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะเปรียบเทียบใบหน้าหลายล้านคนทั่วโลก (เทียบจากโปรไฟล์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก) ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

ด้วยการเก็บดัชนีข้อมูลจากสัญลักษณ์ทางชีวภาพ รัฐบาลบางประเทศสะกดรอยคนทั่วไปได้ในทุกย่างก้าว ทุกถ้อยคำ ที่เกิดขึ้นทั้งบนโลกจริงและโลกดิจิทัล เป็นเหตุผลที่คนทั่วไปต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น ในประเทศประชาธิปไตย ประชาชนอาจออกกฎการควบคุมการเก็บข้อมูลชีวภาพ และช่วยประชาชนในประเทศเผด็จการด้วยการนำเสนอข้อมูลและเครื่องมือผ่านองค์กรต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเผด็จการไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมมากในอียิปต์ และตูนิเซียที่ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือปลุกกระแสปฏิวัติทำให้เหล่าผู้ต่อต้านท้าทายอำนาจการปกครองของผู้นำประเทศได้ในเวลาอันสั้น 

แต่เมื่อดูจากสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของสองประเทศนี้พบว่าเทคโนโลยีเป็นแค่เพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น

ในระยะสั้นเทคโนโลยีจะช่วยกลุ่มผู้ที่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการรวมตัวและกำหนดบทบาทของตัวเองได้รวดเร็วกว่าเดิม 

ในระยะยาว เทคโนโลยีจะทำหน้าที่ที่ดีที่สุดด้วยการเชื่อมโยงประชาชนและความคิดเห็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่วนผู้นำการปฏิวัติยังต้องทำหน้าที่เรื่องการรับรู้ว่า ประเด็นอะไรที่สำคัญที่สุดและจะสร้างแผนการดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบันไปจนถึงอนาคตได้อย่างไร

หลายปีต่อจากนี้ ทั้งผู้นำเผด็จการและผู้กุมอำนาจการบริหารประเทศรายต่าง ๆ คงมีความพยายามสร้างรัฐที่มีระบบควบคุมอย่างรัดกุม และพวกเขาจะมีเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อนอยู่ในมือเพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าวได้ 

อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบรรดาผู้ต่อต้านจะคอยหาทางลัดเลาะหรือหลบเลี่ยงจากการควบคุมไปได้ และประชาชนจะมีวิธีการโต้กลับมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

การปฏิวัติบนโลกดิจิทัลจะดำเนินต่อไป ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ตามมาจากการปฏิวัติจะสลับซับซ้อนแค่ไหน แต่ไม่มีประเทศใดที่ย่ำแย่ลงเพราะสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน และด้วยจำนวนคนอีก 5 พันล้านคนที่จะมีในอีก 10 มีข้างหน้า 

ไม่แน่ว่าบรรดาตำรวจและนักเรียนในกรุงเปียงยางที่ "อีริคและจาเร็ด" ได้พบในช่วงการเยี่ยมเยียนประเทศเกาหลีเหนืออาจเป็นส่วนหนึ่งในประชากร 5,000 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์