เตือนป่าลุ่มน้ำโขงอาจไม่เหลือใน 20 ปี

นักวิจัยระบุว่า ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง กำลังเผชิญกับวิกฤติระบบนิเวศวิทยา หลังเสียผืนป่าในพื้นที่แล้ว 1 ใน 3 ตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา พร้อมเตือนว่า ป่าเกือบทั้งหมดจะหายไปในอีก 20 ปีข้างหน้า

ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้ชื่อว่ามีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังเผชิญกับวิกฤติสูญเสียผืนป่า ที่อาจหมายถึงความสูญเสียต่อระบบนิเวศวิทยาในภูมิภาค

นักวิจัยจากกองทุนสัตว์ป่าโลกรายงานจากการสำรวจด้วยดาวเทียมพบว่า นับตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2552 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้เสียผืนป่าไปแล้ว มากถึง 250 ล้านไร่ หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และยังคงเหลือผืนป่าในตอนนี้อีกเพียง 612 ล้านไร่

โดยประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเมียนมาร์ และลาว สูญเสียป่าไปแล้วร้อยละ 24 ขณะที่กัมพูชา หายไปร้อยละ 22 และไทย กับเวียดนาม ลดลงร้อยละ 43

นอกจากนี้ ในรายงานยังกล่าวอีกด้วยว่า พื้นที่ใจกลางป่า ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังไม่ถูกบุกรุก และมีขนาดอย่างน้อย 3.2 ตารางกิโลเมตร ได้ลดลงจากร้อยละ 70 ในช่วงปี 2516 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2552 พร้อมกล่าวเตือนว่า หากยังมีการสูญเสียพื้นที่ป่าต่อไป คาดว่าจะเหลือผืนป่าอยู่เพียงร้อยละ 14 ภายในปี 2573 และส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างเสือโคร่ง ช้างเอเชีย โลมาอิรวะดี และซาวลา สัตว์มีเขารูปร่างคล้ายแพะผสมเลียงผา

ส่วนสำคัญของรายงานนี้ก็คือ โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในลาว ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ และผลผลิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากเขื่อนปิดกั้นการอพยพของปลา และการไหลของตะกอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และทำให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคนต้องขาดแคลนอาหาร

ขณะที่ช่วงท้ายของรายงาน ได้เสนอแนวโน้มในอนาคตต่อผืนป่านี้ไว้ 2 ทาง ทางแรกคือ ปล่อยให้มีการทำลายป่าต่อไป จนถึงปี 2573 ตามที่คาดไว้ หรือทางที่สองคือ ลดปริมาณการทำลายป่าไม้แต่ละปีให้เหลือร้อยละ 50 และให้ประเทศในลุ่มน้ำ ฟื้นฟูป่า และสร้างการเจริญเติบโตตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะทำให้ผืนป่าที่เหลืออยู่ รอดพ้นจากการทำลาย และทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ และประชาชนในลุ่มน้ำสายนี้ มีชีวิตที่เติบโต และยั่งยืนต่อไป


เตือนป่าลุ่มน้ำโขงอาจไม่เหลือใน 20 ปี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์