อากาศภายในสถานีรถไฟใต้ดินปลอดภัยหรือไม่

รถไฟใต้ดิน เป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบยุโรป และมีจำนวนผู้โดยสารต่อปีหลายพันล้านคน แต่ผลการวิจัยชิ้นล่าสุด กลับพบว่า อากาศภายในสถานีรถไฟใต้ดินอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ถึงขั้นเป็นมะเร็งปอดได้

รถไฟใต้ดิน หรือที่เรียกว่า อันเดอร์กราวด์ และซับเวย์
เป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป อันเนื่องมาจากความรวดเร็วในการเดินทาง

แต่ผู้โดยสารหลายพันล้านคนที่ใช้บริการในแต่ละปี อาจยังไม่ทันตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่มาพร้อมกับความสะดวกสบาย และคิดไปว่า อากาศภายในสถานีรถไฟใต้ดินน่าจะสะอาดกว่าอากาศบนถนนที่การจราจรแออัด และมีไอเสียฟุ้งกระจาย ทั้งที่ความจริงแล้ว อากาศใต้ดินอันตรายยิ่งกว่า

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันด้วยผลวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตันของอังกฤษ ที่ศึกษาปริมาณอนุภาคโลหะที่ลอยอยู่ในอากาศภายในสถานีรถไฟใต้ดิน โดยทีมวิจัยเก็บตัวอย่างอนุภาคฝุ่นละอองหลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ 10 PM / 2.5 PM ไปจนถึงเล็กที่สุด 0.1 PM เป็นเวลา 10 ชั่วโมงในแต่ละวัน แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบ ก่อนพบสิ่งที่น่าประหลาดใจ

ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักอนุภาคโลหะขนาด 0.1 PM ในรถไฟใต้ดิน เป็นน้ำหนักของโลหะ จำพวกเหล็ก ทองแดง และนิกเกิล ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับฝุ่นละอองขนาดเท่ากัน ที่เก็บได้จากถนนที่มีการจราจรคับคั่ง และเตาเผาถ่าน

ที่สำคัญ อนุภาคโลหะเหล่านี้ยังมีส่วนประกอบของออกซิเจนรวมอยู่ด้วย เมื่อผู้โดยสารสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว อนุภาคนี้มีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของปอดได้ บริเวณนั้นเป็นจุดที่มีการถ่ายเทอากาศดี และเสีย จากระบบไหลเวียนโลหิต ออกซิเจนที่อยู่ในฝุ่นละอองจะไปทำให้โมเลกุลในเซลล์ทำงานผิดปกติ จนเกิดการอักเสบ และมีแนวโน้มที่เลือดจะแข็งตัว ซึ่งหมายถึง ไม่เพียงแค่ปอดที่ถูกทำลาย แต่ยังรวมถึงระบบโลหิต และหลอดเลือดทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อนุภาคโลหะอันตรายเหล่านี้เกิดขึ้นจากกลไกการทำงานของรถไฟใต้ดินเอง ในจังหวะที่ล้อวิ่งเสียดสีบนราง และมีการเบรก รวมถึงจังหวะที่มีการส่งพลังงานจากสายเคเบิลเพื่อใช้ขับเคลื่อนรถไฟ ซึ่งทำให้เกิดการสปาร์กที่สายเคเบิล และเกิดความร้อนสูง ความร้อนนี้จะทำให้โลหะกลายเป็นไอ นอกจากนี้ฝุ่นละอองที่นอนพื้นอยู่จะฟุ้งกระจายทุกครั้งที่รถไฟวิ่งผ่านด้วยความเร็วสูง

แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายที่มนุษย์มองไม่เห็น แต่ยังไม่มีการทำวิจัยศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากการสูดดมฝุ่นละอองโลหะเข้าไปโดยตรง นักวิจัยกลุ่มนี้จึงเรียกร้องให้มีการศึกษามากขึ้น เพราะเชื่อว่า ฝุ่นละอองโลหะขนาดเล็กเหล่านี้ อาจกลายเป็นภัยใกล้ตัวที่ทำให้ผู้โดยสารหลายพันล้านคน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในระยะยาว


อากาศภายในสถานีรถไฟใต้ดินปลอดภัยหรือไม่

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์