วันหมดอายุของอาหารนั้นสำคัญไฉน?


วันหมดอายุของอาหารยึดถือได้จริงหรือ ผ่านกำหนดวันไปแล้วยังทานได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า

ด้วยวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน เราทั้งหลายต่างมีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปหรือแปรรูป มากักตุนไว้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการทาน ไปซูเปอร์มาร์เก็ตทีก็ขนซื้อมายกใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นว่า หมดอายุไปก่อนที่จะทานได้หมด

เป็นเช่นนี้หลายคนที่มักนำอาหารพวกนี้แช่ตู้เย็นไว้ คงเคยสงสัยว่า อาหารที่พ้นวันหมดอายุไปแล้ว แต่กลิ่น รส รูปร่างยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นนั้น จะยังทานได้หรือไม่ เพราะจะทิ้งไปก็รู้สึกเสียดาย เช่น ไส้กรอก ขนมปัง...ถ้าต้องการรู้คำตอบ วันนี้ผู้เขียนมีมาบอก แต่ก่อนอื่นขอเล่าสิ่งที่ควรเข้าใจ อย่างเรื่องวันหมดอายุของอาหารกันก่อนนะคะ

สำหรับการกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ อย่างที่เราคุ้นตากัน ก็เช่น EXP….(วันหมดอายุ), BBE…(ควรบริโภคก่อน) นั้น ในทางหลักกฏหมายสากล โรงงานผู้ผลิตอาหารจำเป็นจะต้องทำการทดลองจัดเก็บผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตามคำแนะนำสภาพการจัดเก็บที่ได้ระบุไว้บนฉลากตามจริง เช่น เก็บที่อุณหภูมิห้อง, ควรจัดเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศา, หรือจัดเก็บไว้ในสภาวะแช่แข็ง ฯลฯ และในระหว่างการทดลองโรงงานจำเป็นจะต้องสุ่มทำการตรวจเช็ค ทั้งทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเป็นระยะๆ จนครบอายุการจัดเก็บที่ได้อ้างไว้บนฉลากเพื่อให้มั่นใจได้ว่า สินค้านั้นๆ จะยังคงมีคุณภาพและความปลอดภัยจนถึงวันที่หมดอายุลง

ทว่ามีตัวแปรที่สำคัญมาก คอยจะส่งผลให้อาหารเสื่อมเสีย ก็คือ ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของอาหารแต่ละชนิด แม้โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเก็บไว้ตามสภาวะที่ระบุไว้บนฉลาก ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็จะสามารถนำมาทานได้อย่างปลอดภัยจนถึงวันหมดอายุ แต่จากประสบการณ์การตรวจโรงงานผลิตอาหารหลายร้อยแห่ง พบว่า ผู้ผลิตบางรายเคยเจอปัญหาร้องเรียน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสื่อมหรือเสียก่อนวันหมดอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่ต้องแช่เย็น หรือแช่แข็ง ทั้งๆ ที่กระบวนการผลิตและการจัดเก็บก็ถูกต้องตามหลักการผลิตที่ดี สาเหตุที่ทำให้เสียเร็วกว่ากำหนด ส่วนใหญ่มักมาจากการขนส่ง และร้านค้าปลีกที่นำไปขายหน้าร้านดูแลจัดเก็บไม่ดี เก็บในอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนดไว้

เหตุนี้เองล่ะค่ะ ที่จะบอกผู้อ่านว่า อาหารประเภทแช่เย็น และแช่แข็งนั้น อุณหภูมิการจัดเก็บมีผลโดยตรงต่อการเจริญและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์จนส่งผลให้อาหารนั้นเสื่อมเสียเร็วกว่าวันหมดอายุที่ได้ระบุไว้บนฉลาก ในทางกลับกันหากเรานำอาหารแช่เย็นมาแช่แข็งแน่นอนคะว่า อาหารนั้นจะสามารถมีอายุยืนยาวกว่าที่ได้ระบุไว้บนฉลากเป็นแน่ เพราะอุณหภูมิแช่แข็งจะสามารถชะลอการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของจุลินทรีย์ได้อย่างมาก ดังที่เห็นได้จาก อาหารแช่แข็งมักมีอายุเป็นปีๆ ส่วนอาหารแช่เย็นมีอายุแค่ไม่ถึงครึ่งเดือน แต่เมื่อเรานำอาหารแช่เย็นมาเก็บรักษาโดยการแช่แข็งแล้ว เราจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าแล้วจะหมดอายุอีกทีเมื่อไหร่ หากไม่ทำการส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์

แต่เพื่อความปลอดภัย ยังจำเป็นที่จะต้องสังเกตอาหารหลังละลายน้ำแข็ง ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน สิ่งที่ต้องสังเกต มีทั้ง 

1.ก๊าซในอาหาร : หากอาหารถูกจัดเก็บไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด แล้วถุงกลับพองขึ้น นั้นหมายถึง จุลินทรีย์กำลังทานอาหารชนิดนั้น และปลดปล่อยก๊าซออกมา ยิ่งถ้าถุงบวมเป่งแล้ว หรืออาหารกระป๋องที่บวมกว่าปกติแล้ว ไม่ควรเสี่ยงทานเลย

2.กลิ่นของอาหาร : ให้ใช้วิธีดมกลิ่นก่อนที่จะทาน หากกลิ่นผิดเพี้ยนหรือแปลกไปจากกลิ่นปกติ ให้สงสัยว่า อาหารกำลังจะเสื่อมเสีย

3.เมือกตามผิวของอาหาร หรือลักษณะเป็นวุ้นๆ สำหรับอาหารเหลว : ธรรมชาติของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสียมักสร้างเมือกขึ้นมาในระหว่างการเจริญ ดังนั้นจะสังเกตว่า อาหารเริ่มเสื่อมเสีย มักมีเมือกลื่นๆเคลือบอยู่ที่ผิวของอาหาร หรือ ถ้าอาหารชนิดนั้นเป็นของเหลว ก็ให้สังเกตเนื้อของเหลวนั้นว่ามีการข้นเป็นวุ้นปะปนหรือไม่

4.สี รสชาติ และลักษณะทางกายภาพ : สีของอาหารก็มีส่วนสำคัญ หากสีเปลี่ยนหรือแตกต่างไป รวมถึงลักษณะทางกายภาพของอาหารที่เป็นชิ้นๆ ให้สังเกตรา หรือลักษณะแปลกปลอมที่มีในอาหาร หากผิดปกติแนะนำว่าทิ้งดีกว่า

เห็นไหมค่ะว่า บางทีวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ตายตัวเสมอไป หากแต่ยังมีปัจจัยในเรื่องการขนส่งและจัดเก็บ โดยเฉพาะอาหารแช่เย็นหรือแช่แข็ง หากซื้อมาแล้วควรรีบนำมาจัดเก็บในตู้เย็นให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยเวลาให้อยู่ในอุณหภูมิปกตินานเท่าใด นั่นแสดงว่า เรากำลังทำให้จุลินทรีย์ที่มีในอาหารนั้นเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ดีเลยล่ะค่ะ

สุดท้าย ผู้เขียนขอฝากไว้อีกสักนิด สำหรับเรื่องวัตถุกันเสียในอาหาร หรือสารกันบูด หากผลิตภัณฑ์อาหารใส่สารดังกล่าวมากเกินไป บางทีผ่านวันหมดอายุแล้ว แต่อาหารนั้นก็ยังไม่แสดงถึงสภาพการเสื่อมเสียใดๆ เพราะวัตถุกันเสียมีผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์ในอาหาร และวัตถุกันเสียเหล่านี้ยังเป็นอันตรายทางเคมีที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาวได้  ทางที่ดีเราควรเลือกซื้อเลือกทานอาหารที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากส่วนผสมที่ระบุไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไหนใช้วัตถุกันเสียก็เลี่ยงๆ แล้วกันนะคะ.

วันหมดอายุของอาหารนั้นสำคัญไฉน?

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์