ปิดตำนานตรวน ศักราชใหม่ราชทัณฑ์ ดีเดย์ 15 พ.ค.


ภาพหรือสัญลักษณ์ของนักโทษที่ถูกจองจำในคุก "แวบแรก" หนีไม่พ้น เครื่องพันธนาการที่เรียกว่า "ตรวน" หรือ "โซ่ตรวน"

หากจะย้อนความเป็นมาของ "ตรวน" มีข้อมูลจากพิพิธิภัณฑ์ราชทัณฑ์ไทยบอกไว้ว่า "ตรวน" นั้น เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งของการลงโทษ ที่จะประกอบด้วย 3 ชนิดหลัก คือ 1.เครื่องพันธนาการ 2.เครื่องทรมานเกี่ยวกับจารีตนครบาล และ 3.เครื่องลงทัณฑ์เกี่ยวกับการประหารชีวิต

"ตรวน" หรือ "โซ่ตรวน" ถูกจัดอยู่ในหมวด "เครื่องพันธนาการ" สันนิษฐานว่าเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏจากวิธีการลงโทษตามกฎหมายตราสามดวง ที่กำหนดโทษไว้ 6 สถาน คือ ประหารชีวิต ตัดตีน สินมือ ทวน จำโซ่ตรวน ขื่อคา ปรับไหม และภาคทัณฑ์

ทั้งนี้ โดยหลักๆ แล้ว "ตรวน" เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจองจำผู้กระทำความผิด ไม่ให้หลบหนี เมื่อครั้งโบราณกาลจะใช้กับนักโทษอุกฉกรรจ์และนักโทษที่มีนิสัยดื้อด้าน

ยุคปัจจุบัน "ตรวน" ถูกใช้เป็นเครื่องพันธนาการตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ฉบับที่ 11

ลักษณะของ "ตรวน" คือเป็นห่วงเหล็กที่นำมาคล้องเข้ากับข้อเท้าทั้งสองข้างข้างละ 1 เส้น และร้อยห่วงทั้งสองเข้าด้วยโซ่อีกหนึ่งเส้น เครื่องพันธนาการนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โซ่ตรวน"

สำหรับเป้าประสงค์ของการใส่ "ตรวน" เพราะต้องการให้นักโทษเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ไม่สามารถก้าวขากว้างๆ ได้ ไม่สามารถเดินหรือวิ่งด้วยความเร็วได้เพราะน้ำหนักของโซ่ตรวนที่ขาทำให้ยากแก่การหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กำหนดลักษณะของ "ตรวน" ไว้ 3 ขนาด คือ ขนาดที่ 1 วัดผ่านศูนย์กลางเหล็กวงแหวน 10 มิลลิเมตร ขนาดที่ 2 วัดผ่านศูนย์กลางเหล็กวงแหวน 12 มิลลิเมตร และขนาดที่ 3 วัดผ่านศูนย์กลางเหล็กวงแหวน 17 มิลลิเมตร

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังกำหนดรายละเอียดลึกลงไปในเรื่องของความห่าง ความสั้น ความยาวของลูกโซ่แต่ละข้อที่ร้อยเรียงต่อกันเป็นข้อๆ ระหว่างขาทั้งสองขา

อดีตผู้บัญชาการเรือนจำรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ผู้ต้องขังที่ต้องจองจำด้วย "โซ่ตรวน" ส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต ที่ต้องสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มนักโทษเหล่านี้ต้องการหลบหนีอย่างแน่นอน การใส่ "โซ่ตรวน" ให้กับนักโทษกลุ่มนี้จึงช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง

อดีตผู้บัญชาการเรือนจำคนนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การใส่หรือถอด "ตรวน" นั้น เมื่อก่อนเป็นอำนาจของพัศดีและผู้บัญชาการเรือนจำในแต่ละแห่ง ต่อมามีการปรับระบบให้เป็นรูปแบบคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการใส่ หรือถอด "ตรวน"

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษรายใดต้องใส่ "ตรวน" ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของงานควบคุมกลางของแต่ละเรือนจำ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แผนกบริการตรวน" รับหน้าที่ทั้งใส่-ถอด และซ่อม "ตรวน" ตามสถานการณ์

สำหรับวิธีการใส่นั้นจะนำ "ตรวน" เหล็กพร้อมโซ่ ความสั้นยาวตามระเบียบ ใช้เครื่องมือเฉพาะช่วงง้างใส่ไปที่ข้อเท้าของนักโทษทั้งสองข้าง ปรับขนาดตามข้อเท้าแต่ละคน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะกรมราชทัณฑ์จัดให้

สำหรับขั้นตอนการบำรุงรักษาและใช้ชีวิตร่วมกับ "โซ่ตรวน" คงต้องไปสืบค้นจากประสบการณ์ของเพื่อนนักโทษร่วมแดน

นั่นเป็นประวัติและความเป็นมาของ "ตรวน" แต่ขณะนี้ "ตรวน" จะกลายเป็นอดีตไปแล้ว

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ บอกว่า กรมราชทัณฑ์ยุคนี้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ทั้งความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง รวมถึงการถอด "ตรวน" ครั้งนี้ ดีเดย์ 15 พฤษภาคม จะมีนักโทษประเภทโทษสูง ที่เรือนจำกลางบางขวางนำร่องเข้าโครงการถอด "ตรวน" ประมาณ 500 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษที่มีความประพฤติดี

"ตรวน" ถูกใช้เป็นเครื่องพันธนาการของงานราชทัณฑ์ มายาวนานกว่า 100 ปี แต่ราชทัณฑ์ยุคนี้กำลังเข้าสู่โหมดของการ "เชนจ์" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ที่เห็นว่า "ตรวน" เป็นเครื่องพันธนาการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและล้าสมัย แตกต่างจากกำไลข้อมือ-ข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพันธนาการยุคใหม่

การถอด "ตรวน" ครั้งนี้ เป็นเพียงโครงการนำร่องที่ต้องประเมินข้อดีข้อเสีย อย่างรอบคอบ ก่อนจะนำมาขยายไปสู่เรือนจำอีก 142 แห่งทั่วประเทศ


ที่มา มติชนรายวัน


ปิดตำนานตรวน ศักราชใหม่ราชทัณฑ์ ดีเดย์ 15 พ.ค.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์