นักโทษยุคดิจิตอล


ข่าวสารที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เกี่ยวกับนักโทษที่ถูกจองจำในทัณฑ์สถาน และถือเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งภายหลังกระทรวงยุติธรรมสั่งปลดโซ่ตรวน โดยเริ่มนำร่องจากนักโทษประหาร 500 รายในเรือนจำบางขวางก่อนขยายไปทั่วประเทศ

การกระทำความผิดในคดีอาญาใดตามประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดบทลงโทษไว้มี 5 สถาน คือ ริบทรัพย์สิน ปรับ กักขัง จำคุก หรือประหารชีวิต

ในส่วนของการลงโทษจำคุก ที่ผ่านมาเมื่อผู้ต้องหาได้ถูกพิพากษาให้ได้รับโทษจำคุก ผู้นั้นก็ต้องอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็ต้องถูกจำคุกในเรือนจำในสถานที่ต่างๆ กันไป

ประวัติของการจำคุกในยุคก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการเรือนจำในขณะนั้นสังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการใหม่  และได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” ขึ้นเพื่อให้การจัดการเรือนจำเป็นไปอย่าเรียบร้อยยิ่งขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 โดยมีหน้าที่เกี่ยวด้วยการเรือนจำ การกักกัน และในส่วนภูมิภาคได้มีการกำหนดเป็นเรือนจำจังหวัด โดยปัจจุบันกรมราชทัณฑ์อยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม

แต่ปัจจุบันเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอและได้ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556 ซึ่งสาระของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น คือ มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดหรือผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้น (electronic monitoring of prisoners) โดยในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขหรือเหตุแห่งความจำเป็น 4 ประการ คือ

1) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก

2) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตรซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้และขาดผู้อุปการะ

3) ผู้ซึ่งต้องจำคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

4) ผู้ซึ่งจำคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่น

วิธีการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการบริหารงานยุติธรรมของสากล เช่น ประเทศอังกฤษได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการฝั่งไมโครชิปในร่างกายของนักโทษหรือผู้ถูกคุมประพฤติ โดยไมโครชิปดังกล่าวจะมีการบรรจุข้อมูลส่วนตัวและรวมถึงสามารถที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของนักโทษได้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่าจะมีการใช้เครื่องมือชนิดใดที่ใช้ในการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำคุก

แต่อย่างไรก็ดี ก็นับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของการบริหารงานยุติธรรมของประเทศไทยและอย่างน้อยก็ส่งผลดีต่อการลดจำนวนนักโทษให้เรือนจำ อันทำให้เป็นการลดความแออัดของเรือนจำได้ประการหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดพวกเราก็อย่าทำการใดๆ ที่ผิดต่อบทกฎหมายซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนนักโทษในเรือนจำ ก็จะเป็นการดียิ่ง.

นายพุฒิพงศ์ นิลสุ่ม
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
https://www.facebook.com/สำนักกฎหมาย-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


นักโทษยุคดิจิตอล

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์