เตรียมใช้ แบคทีเรีย พิชิต มาลาเรีย


มาลาเรีย หรือ "ไข้จับสั่น" ถือเป็นโรคระบาดสำคัญในระดับโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการเอาไว้ว่าในแต่ละปีจะมีผู้ได้รับเชื้อมาลาเรียถึงขั้นล้มป่วยมากถึง 220 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแต่ละปีสูงถึง 660,000 คน

แต่ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย มิชิแกน สเตท อาจส่งผลในทางที่ดีในอนาคตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั่นคือ อาจทำให้คนเราสามารถ "ควบคุม" หรืออาจถึงกระทั่ง "กำจัด" มาลาเรียไปได้โดยสิ้นเชิงก็เป็นได้
 
มาลาเรียแพร่ระบาดจากการที่ยุงก้นปล่อง ที่ไปดูดเลือดผู้ที่ล้มป่วยแล้วกลายเป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรียไปแพร่ใส่คนต่อๆ ไปที่มันไปกัด แต่ทีมวิจัยดังกล่าวพบว่าแบคทีเรียบางสายพันธุ์สามารถทำให้ยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรียติดเชื้อแล้วกลายเป็นยุงที่สามารถต้านทานเชื้อมาลาเรียไม่ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายของมันได้

แบคทีเรียกลุ่มที่นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ใช้ในการทดลองก็คือแบคทีเรีย โวลบาเคีย (โวลบาเคีย แบคทีเรียม) ซึ่งพบติดเชื้ออยู่ในแมลงทั่วไปหลายชนิด เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถแพร่จากตัวเมียไปยังลูกหลานได้เท่านั้น ดังนั้น ในแมลงบางชนิด เชื้อนี้เข้าไปทำให้แมลงดังกล่าวมีแต่ตัวเมียเพื่อเพิ่มจำนวนการระบาดของมัน ด้วยการทำลายตัวอ่อนที่เป็นตัวผู้ไม่ให้เติบโต สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในผีเสื้อและแมลงเต่าทองที่ติดเชื้อ ในแมลงอีกบางชนิด เชื้อโวลบาเคียส่งผลให้ตัวผู้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ยกเว้นว่าจะผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีเชื้อเดียวกันนี้เท่านั้น นอกจากนั้น ยังสามารถทำให้ตัวเมียของตัวต่อบางชนิดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ด้วยซ้ำไป

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยในออสเตรเลีย เคยนำเอาโวลบาเคียสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปมาใช้แพร่ใส่ยุงลายที่เป็นพาหะนำไข้เลือดออกประสบผลสำเร็จมาแล้ว ซึ่งกลายเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ผลจริง เพียงแต่ต้องค้นคว้าวิจัยให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับการวิจัยเพื่อป้องกันไข้เลือดออกของออสเตรเลียเป็นอย่างน้อย

ในความพยายามที่จะพิชิตการระบาดของมาลาเรียนั้น ทีมวิจัยใช้ยุงก้นปล่องสายพันธุ์เดียวในการทดลอง คือ "อาโนฟีเลส สเตเฟนซี" ซึ่งเป็นพาหะไข้มาลาเรียในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ในขณะที่มียุงก้นปล่องที่ถือว่าเป็นพาหะหลักของไข้มาลาเรียอยู่มากถึง 40 ชนิดด้วยกัน

ยุงอาโนฟีเลส ปกติแล้วไม่ติดเชื้อแบคทีเรียโวลบาเคีย แต่จากการทดสอบในห้องทดลองพบว่า มีสายพันธุ์หนึ่งของโวลบาเคียสามารถใช้ชีวิตอยู่ในยุงสายพันธุ์นี้ได้ และถ่ายทอดเชื้อต่อๆ ไปยังลูกหลานตลอดช่วงระยะเวลาของการทดลอง คือ 34 ชั่วชีวิตของยุงสายพันธุ์ดังกล่าว

ยุงอาโนฟีเลสที่ติดเชื้อโวลบาเคียแล้วจะทำให้ร่างกายของมันไม่เหมาะสำหรับการติดเชื้อมาลาเรีย ที่เป็นปรสิตชนิดหนึ่ง โดยจากการตรวจสอบแล้วพบว่า ปริมาณของเชื้อมาลาเรียในยุงอาโนฟีเลสที่ติดเชื้อโวลบาเคียนั้นมีอยู่น้อยกว่ายุงที่ไม่ติดเชื้อมากถึง 4 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายจะเห็นด้วยว่าการทดลองครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นเท่านั้น เพราะนอกจากจะเป็นการทดลองกับยุงก้นปล่องเพียงสายพันธุ์เดียวแล้ว ในขณะที่ยังมียุงก้นปล่องอีกหลายสายพันธุ์ อย่างเช่นยุง อาโนฟีเลส แกมบีเอ ที่เป็นพาหะหลักในแอฟริกาซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่กว่าในตะวันออกกลางและเอเชียใต้มาก

นอกจากนั้น การทดลองยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าได้ผลในสภาพธรรมชาติจริงอีกด้วย

เตรียมใช้ แบคทีเรีย พิชิต มาลาเรีย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์