ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด


หลังจากที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตได้เมื่อกว่า 60 ปีก่อน นับตั้งแต่นั้น นักปีนเขาก็เริ่มบ่นอุบว่ายอดเขาแห่งนี้ เริ่มเต็มไปด้วยผู้อยากท้าทายความสูงและความหนาวเย็น



ภาพ: Subin Thakuri, Utmost Adventure Trekking



เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1953 เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลารี และเทนซิง นอร์เก สามารถปีกถึงยอดของยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ ต่อมาเมื่อเทคนิคและอุปกรณ์ด้านการปีนเขา รวมถึงทักษะของไกด์ชาวเชอร์ปาได้รับการพัฒนา ก็เริ่มมีนักปีนเขาทยอยเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี


ตามข้อมูลของนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟฟิคพบว่า เมื่อปี 1990 มีเพียงร้อยละ 18 ของนักปีนเขาเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ในปีที่แล้ว อัตราการประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นะเป็นร้อยละ 56 อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าพอใจนัก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เส้นทางสู่ยอดเขาเริ่มเต็มไปด้วยนักเดินทาง จนกลายเป็นเสมือนถนน 5 เลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดยาว


สถิติค่าเฉลี่ยผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปีนขึ้นสู่ความสูง 8,848 เมตร ต่อวัน เมื่อปีที่แล้วทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 234 คน ขณะที่ย้อนกลับไปปี 1983 มีนักปีนเขาที่ประสบความสำเร็จเพียง 8 คนต่อวันเท่านั้น และในอีก 10 ปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 40 ราย


ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด


ภาพ: Ralf Dujmovits



ขณะที่ในปีนี้ มีรายงานการร้องเรียนของนักปีนเขาหลายราย ที่ระบุว่า พวกเขาต้องรอบริเวณจุดคอขวดก่อนขึ้นสู่ยอดเขานานถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเมื่อปีที่แล้ว ราล์ฟ ดุจโมวิตซ์ นักปีนเขาชาวเยอรมัน ได้ถ่ายภาพนักปีนเขาที่ต่อคิวที่ยาวเหยียดเพื่อรอขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่่งก่อให้เกิดการถกเถียงว่า การปล่อยให้เกิดภาพเช่นนี้ ได้ทำลายบรรยากาศความสนุกในการปีนเขาไปแล้วหรือไม่


ชาวตะวันตกสามารถจ่ายเงินราว 10,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในการขอใบอนุญาตในการปีนเขา พร้อมไกด์นำทาง ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริเวณพื้นล่างเต็มไปด้วยความคึกคัก ทว่านำมาซึ่งปัญหาด้านสาธารณสุขและการจัดการของเสีย


นักปีนเขารายหนึ่งกล่าวว่า ทุกอย่างบริเวณพื้นที่โดยรอบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว ทุกอย่างเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของชาวตะวันตก และไม่ใช่ประสบการณ์ท้าทายที่นักปีนเขาหลายคนต้องการแสวงหาอีกต่อไป


ความก้าวหน้าด้านการพยากรณ์อากาศทำให้นักปีนเขา ต่างกำหนดวันในการเดินทางแทบจะพร้อมๆกัน อีกทั้งความเข้าใจต่อ"โรคจากการขึ้นที่สูง" ทำให้การปีนขึ้นสู่เอเวอเรสต์ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป



ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด


และหากมีเงินมากพอนักปีนเขาสามารถจัดหาถังอ็อกซิเจนได้เพียงพอ หรืออุปกรณ์ที่มีความทันสมัย หรือกระทั่งจ้างไกด์นำทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่า ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็จะสามารถขึ้นสูยอดเขาได้โดยไม่มีอุปสรรค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ด.ช.จอร์แดน โรเมโร ชาวอเมริกัน ที่สร้างสถิติเป็นบุคคลที่อายุน้อบยที่สุด ที่สามารถขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเมื่อปี 2010 รวมถึงนายยูอิชิโร มิอุระ ชาวญี่ปุ่นวัย 80 ปี ที่สร้างสถิตินักปีนเขาเอเวอเรสต์อายุมากที่สุดในโลกได้เมื่อสัปดาห์ก่อน


ขณะที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการหลั่งไหลขึ้นสู่เอเวอเรสต์ของนักปีนเขาที่ขาดประสบการณ์ อาจก่อให้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันได้ โดยเมื่อปี 1996 นักปีนเขา 8 รายเสียชีวิตภายใน 36 ชม. ใกล้กับยอดเขา ในปี 2010 นักปีนเขา 10 รายสูญหายระหว่างการปีนเขา โดย 3 รายในนั้นเป็นไกด์นำทางชาวเชอร์ปา


ตามข้อมูลของนายเกรแฮม ฮอยแลนด์ ผู้เขียนหนังสือ The Last Hours on Everest ที่เล่าประสบการณ์การปีนยอดเขาเอเวอรเรสต์ที่ล้มเหลวของจอร์จ มัลเลอรี และแอนดริว เออร์ไวน์ เมื่อปี 1924 ระบุว่า นักปีนเขาที่มีประสบการณ์มักรู้สึกหงุดหงิด ที่เห็นนักปีนเขามือสมัครเล่นที่ใช้เชือกแบบตายตัว ทำให้พวกเขาปีนเขาได้ช้าลง ที่อาจก่อให้เกิดอารมณ์คุกรุ่นระหว่างการเดินทาง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เกิดเหตุวิวาทระหว่าง 2 นักปีนเขาชาวยุโรปชื่อดัง และกลุ่มไกด์นำทางชาวเนปาลบริเวณแคมป์พักในระดับความสูง 7,470 เมตร


นอกจากนั้น ยังเกิดข้อร้องเรียนเรื่องการทิ้งขยะและการขับถ่ายของนักปีนเขา ซึ่งทางการได้เริ่มมาตรการด้านสาธารณสุขและการทำความสะอาดครั้งใหญ่บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้น ทางการเนปาลก็ยังคงได้รับการร้องเรียนเพื่อให้จัดการกับปริมาณนักปีนเขาจำนวนมหาศาล


ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด


"ฮิลารี สเต็ป"



บริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่งเสนอว่า ควรมีการติดตั้งบันไดบริเวณจุดที่เรียกว่า "ฮิลารี สเต็ป" ซึ่งเป็นชะง่อนหินขนาดใหญ่ก่อนถึงยอดเอเวอเรสต์ เพื่อลดการจราจรที่คับคั่งบริเวณนั้นลง เนื่องจากนักปีนเขาสามารถปีนขึ้นหรือลง ได้เพียงครั้งละคนเดียวเท่านั้น แต่นักปีนเขาที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่แท้จริงกล่าวแย้งว่า นั่นจะลดความท้าทายและยากลำบากซึ่งเป็นเสน่ห์ของการปีนเขาเอเวอเรสต์ลงไปด้วย


ขณะที่อีกมาตรการหนึ่งคือการจำกัดให้แต่ละบริษัท สามารถจัดการปีนเขาได้เพียงครั้งเดียวต่อเส้นทาง เพื่อจำกัดจำนวนนักปีนเขาลง ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยมีการบังคับใช้กระทั่งปี 1985 ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมีความเป็นไปได้ ฮอยแลนด์ยังเสนอว่า ผู้ที่ยื่นขออนุญาตปีนเขา ควรผ่านการฝึกหรืออย่างน้อยควรมีประสบการณ์ในการปีนเขามาบ้างแล้ว เพื่อให้ผู้ปีนมีความรู้ถึงวัฒนธรรมในการปีนเขา


ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด


เซอร์คริส บอนนิงตัน ซึ่งเคยปีนยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเมื่อปี 1985 ขณะที่มีอายุ 50 ปี เปิดเผยว่า เขารู้สึกดีใจที่ได้ปีนขณะที่ผู้คนยังไม่มากเท่าสมัยนี้ อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่า ยังคงต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวยอดเขาเอเวอเรสต์อีกมา และไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดการจำกัดโอกาสของผู้ที่ต้องการปีนยอดเขารายอื่นๆ


นอกจากนั้น มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ยังอาจส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคนท้องถิ่นและชุมชน ที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักด้วย จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ทั้งชุมชนและนักท่องเที่ยวต่างได้รับประโยชน์ร่วมกันจากยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้




เรียบเรียงจาก "Everest crowds: The world′s highest traffic jam"
โดย Jon Kelly
BBC News Magazine


ยอดเขาเอเวอเรสต์ กับปัญหาการจราจร(มนุษย์)ติดขัด

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์